ตั้งแต่ E-Commerce กลายเป็นเรื่องพื้นฐานในการใช้ชีวิตของคนไทยปัจจุบัน ก็ทำให้เกิดธุรกิจใหม่เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย โดยเฉพาะธุรกิจในภาคขนส่งที่มีบริษัทเอกชนมากมายรุกเข้าชิงตลาดจากไปรษณีย์ไทย แต่ธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจและตอบรับความต้องการของผู้ค้าได้เป็นอย่างดีคือ ธุรกิจคลังสินค้าพร้อมบริการจัดส่งครับ ซึ่งครั้งนี้เราจะพาไปรู้จักกับ Sokochan (โซโกะจัง) หนึ่งในผู้เล่นที่กระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้ด้วยจุดเด่นด้านระบบไอที ทำให้ได้การบริการยืดหยุ่นและแม่นยำ
จากระบบไอทีที่แม่นยำและออกแบบให้ช่วยเหลือผู้ปฏิบัติงาน ยังทำให้ Sokochan สามารถดำเนินธุรกิจได้แม้มีทีมงานไม่ถึง 10 คน ก็สามารถจัดการทั้งการหยิบของ แพ็คของ และจัดส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งศักยภาพในปัจจุบันนั้นอยู่ที่ราวๆ 100 คำสั่งซื้อต่อชั่วโมง
จากปัญหาสู่ธุรกิจแพ็คสินค้าพร้อมส่ง
จุดเริ่มต้นของ Sokochan (โซโกะจัง) นั้นมาจากปัญหาที่ คุณเมย์ – เบญจพร ชัยบุรี ผู้ร่วมก่อตั้ง เจอด้วยตัวเองขณะตั้งร้านขายเสื้อผ้าเด็กออนไลน์ ที่นอกจากจะต้องขายของแล้ว ยังมีภาระในการแพ็คสินค้าและเสียเวลาไปกับการจัดส่งมากมาย เธอจึงร่วมกับสามี (คุณเอเดรียน สจ๊วต) เพื่อสร้าง Sokochan บริการคลังจัดเก็บสินค้าพร้อมจัดส่งครบวงจร โดยเริ่มต้นให้บริการในเดือนตุลาคม 2557
ถ้าแบ่งเรื่องของการค้าขายออนไลน์เป็นเรื่อง หน้าบ้าน คือจัดแสดงสินค้า ราคา โปรโมชั่น และการพูดคุยกับลูกค้า Sokochan ก็จะดูแลในส่วนหลังบ้านให้ผู้ค้าออนไลน์เกือบทั้งหมด ตั้งแต่การจัดเก็บและบริหารสต็อกสินค้า การแพ็คสินค้า รวมไปถึงการจัดส่ง ผู้ค้าเพียงแค่ออเดอร์งานผ่านหน้าเว็บฯ ของ Sokochan ก็สามารถนำสินค้าออกจากโกดังมาแพ็คส่งได้ทันที จากที่เคยเสียเวลาเป็นวันๆ ในการแพ็คสินค้าและจัดส่งด้วยตัวเอง ก็เหลือเพียงแค่ตรวจสอบคำสั่งงานให้ถูกต้องเท่านั้น แล้วเอาเวลาที่เหลือไปหาสินค้าใหม่มาขาย หรือคิดแผนการตลาดใหม่ๆ ให้ธุรกิจเติบโต
“จากสถิติ ผู้ค้าที่เริ่มใช้งาน Sokochan จะมียอดขายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเจ้าของกิจการมีเวลาใส่ใจในส่วนธุรกิจมากขึ้น ยกการจัดการที่วุ่นวายมาไว้ที่เรา”
ขั้นตอนการทำงานของ Sokochan
เมื่อร้านค้าตกลงให้ Sokochan เข้ามาช่วยจัดการสต็อกสินค้าและการจัดส่งแล้ว ก็สามารถส่งสินค้าจากผู้ผลิตมาเก็บไว้ที่โกดังของ Sokochan ได้เลย ซึ่งผู้ค้าสามารถเลือกขั้นตอนการนำสินค้าเข้าโกดังได้ว่าจะเป็นแค่การนำสินค้าเข้าธรรมดา แปะบาร์โค้ดที่สินค้าเพื่อเชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์ทุกชิ้นก่อนเข้าไปเก็บในคลัง หรือนำเข้าแบบพิเศษที่ Sokochan มีบริการตรวจคุณภาพสินค้าก่อนรับเข้าได้ด้วย เช่น ถ้าหากร้านค้ากางเกงต้องการให้ตรวจเช็กคุณภาพสินค้า แยกขนาดกางเกงก่อนรับเข้า Sokochan ก็บริการให้ได้
หลังจากสินค้าเข้าคลังและมีข้อมูลสต็อกในบัญชีแล้ว เมื่อต้องการจัดส่ง หน้าที่ของผู้ค้าคือ ใส่รายละเอียดผู้ซื้อและที่อยู่จัดส่งในระบบให้เรียบร้อย พร้อมเลือกรูปแบบการจัดส่งที่ต้องการ ซึ่งมีทั้งแบบพื้นฐาน ส่งลงทะเบียนหรือ EMS จากไปรษณีย์ไทย หรือบริการจากบริษัทขนส่งเอกชนอื่นๆ ที่มีตัวเลือกเก็บเงินปลายทาง (COD) หรืออาจมีราคาถูกกว่าไปรษณีย์ไทยในบางกรณี เพื่อให้ผู้ค้าสามารถบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น
เมื่อ Sokochan ได้รับคำสั่งจากผู้ค้าเรียบร้อย ระบบงานจะอ้างอิงสินค้าแต่ละ SKU จากบาร์โค้ดที่แปะอยู่ เมื่อทีมงานหยิบสินค้าจากคลังและสแกนบาร์โค้ดเข้าสู่ระบบ คอมพิวเตอร์จะระบุที่อยู่จัดส่งและข้อมูลอื่นๆ ของผู้ซื้อพร้อมพิมพ์สติ๊กเกอร์จ่าหน้าสินค้า ทำให้ลดความผิดพลาดในการจัดส่งลงไปได้
ฉบับที่ 206 เดือนกุมภาพันธ์การแข่งขันบริการ Streaming บน 4G |
จุดเด่นของ Sokochan อยู่ที่ระบบไอทีที่แม่นยำ
ระบบของ Sokochan นั้นสร้างอยู่บนพื้นฐานที่นำทุกอย่างมาจัดการด้วยคอมพิวเตอร์ สินค้าทุกชิ้น กล่องพัสดุหรือซองส่งของต่างๆ ก็มีการแปะบาร์โค้ดเพื่อให้ระบบรับรู้ทั้งหมด Sokochan จึงเป็นบริการที่แทร็กการใช้จ่ายตามจริงได้ทั้งหมด เช่น มีการจัดส่งสินค้าประเภทใดไปกี่ชิ้น ใช้รูปแบบการจัดส่งแบบไหน ใช้วัสดุห่อหุ้มอย่างไร มีการหยิบสินค้ากี่ชิ้นในหนึ่งแพ็กเกจ ผู้ใช้บริการจึงเห็นค่าใช้จ่ายในการจัดส่งจริงๆ ว่าการส่งสินค้าหนึ่งชิ้นนั้นประกอบด้วยค่าซอง ค่ากล่องเท่าไร ค่าพลาสติกกันกระแทกอีกเท่าไร ค่าหยิบสินค้า/ค่าส่งสินค้ามากแค่ไหน ซึ่งการคิดตามจริงแบบนี้ทำให้ระบบงานโปร่งใส และมีค่าบริการที่ถูกกว่าการคิดราคาแบบเหมาของหลายๆ บริการ
จากระบบไอทีที่แม่นยำและออกแบบให้ช่วยเหลือผู้ปฏิบัติงานยังทำให้ Sokochan สามารถดำเนินธุรกิจได้แม้มีทีมงานไม่ถึง 10 คน ก็สามารถจัดการทั้งการหยิบของ แพ็กของ และจัดส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งศักยภาพในปัจจุบันนั้นอยู่ที่ราวๆ 100 คำสั่งซื้อต่อชั่วโมง ซึ่งคุณเอเดรียน ผู้ออกแบบระบบก็บอกว่าในอนาคตจะสามารถทำได้เร็วกว่านี้ เมื่อสามารถย่อกระบวนการทำงานให้สั้นลงได้อีก อย่างแผนในอนาคตคือ Sokochan จะสามารถพิมพ์บาร์โค้ดของ EMS ลงบนแพ็กเกจได้เลย ไม่ต้องเสียเวลานำสติ๊กเกอร์ของไปรษณีย์ไทยมาติดลงบนกล่องแบบปัจจุบันอีก ทำให้สามารถจัดการสินค้าต่อชิ้นได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้การที่นำระบบคอมพิวเตอร์มาเป็นแกนยังสามารถควบคุมต้นทุนในการบริหารงานให้สามารถสู้กับคู่แข่งได้อีกด้วย
นอกจากนี้ Sokochan ยังสามารถเชื่อมต่อรายงานสถานะการจัดส่งสินค้าจากบริษัทขนส่งต่างๆ ได้อีกด้วย ลูกค้าเพียงเข้าไปในหน้าที่ Sokochan เตรียมเอาไว้สำหรับแต่ละร้านค้า แล้วค้นหาการจัดส่งจากชื่อผู้รับ ระบบก็จะไปดึงข้อมูลจากบริษัทขนส่งมาแสดงทันทีว่าสินค้าอยู่ที่ไหน มีการนำจ่ายแล้วหรือยัง ซึ่งการที่ Sokochan สามารถให้บริการสถานการณ์ขนส่งแบบรวมศูนย์บนหน้าเว็บฯ ก็ช่วยลดภาระของผู้ค้าได้มาก จากเดิมที่ผู้ค้าต้องไปส่งของเองที่ไปรษณีย์ เสร็จแล้วมานั่งป้อนหมายเลข EMS ส่งลูกค้า วันดีคืนดีลูกค้าตามหาของก็ต้องมาค้นอีกว่าลูกค้าคนนี้มีเลข EMS อะไร แต่ด้วยระบบของ Sokochan ลูกค้าสามารถค้นหาการจัดส่งสินค้าด้วยตัวเองได้ หรือถ้าผู้ค้าจะอำนวยความสะดวกก็ค้นจากชื่อลูกค้าได้เลย ไม่ต้องไปตามหาหมายเลข EMS มาค้นในระบบไปรษณีย์อย่างที่เคยทำ
เราเคยเข้าหาหลายร้านค้า พบว่ามีจำนวนไม่น้อยบอกว่ายุ่งมาก แต่ก็มีความสุขกับการได้ทำ และยังไม่อยากจ่ายเพิ่มเติม แต่จริงๆ แล้วผู้ค้าก็จ่ายอยู่ทุกวัน ซื้อเชือก ซื้อกันกระแทก จ่ายค่ารถเอง แค่ยังไม่เห็นตัวเลขนั้นเพราะใช้เงินจากกระเป๋าตัวเอง ไม่ได้ลงบัญชี
อนาคตของ Sokochan และมุมมองต่อ E-Commerce ไทย
Sokochan เพิ่งจะครบรอบ 1 ปีเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งถ้ามองต่อไปในอนาคต ความสนใจหลักตอนนี้คือ การมุ่งหาลูกค้าใหม่ และให้ความรู้กับตลาดกลุ่ม SMEs ให้เข้าใจประโยชน์ของบริการอย่าง Sokochan ช่วยให้ผู้ค้ามีเวลาบริหารธุรกิจมากขึ้น ไม่ต้องจ้างพนักงานเพื่อมาแพ็คและจัดส่งเอง ซึ่งจะทำให้การดำเนินธุรกิจนั้นยืดหยุ่นกว่า
“เราเคยเข้าหาหลายร้านค้า พบว่ามีจำนวนไม่น้อยบอกว่ายุ่งมาก แต่ก็มีความสุขกับการได้ทำ และยังไม่อยากจ่ายเพิ่มเติม แต่จริงๆ แล้วผู้ค้าก็จ่ายอยู่ทุกวัน ซื้อเชือก ซื้อกันกระแทก จ่ายค่ารถเอง แค่ยังไม่เห็นตัวเลขนั้นเพราะใช้เงินจากกระเป๋าตัวเอง ไม่ได้ลงบัญชี”
ส่วนมุมมองด้าน E-Commerce คุณเอเดรียนและคุณเมย์ มองว่า ลักษณะเฉพาะตัวของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กในไทย ที่เป็นการโชว์สินค้าผ่าน Facebook และ Instagram เพื่อซื้อ-ขายกันผ่านช่องทางการโอนเงิน ไม่ได้ใช้บัตรเครดิตเป็นหลักนั้น สาเหตุหนึ่งเกิดจากความก้าวหน้าของธนาคารไทยในช่วงหลายสิบปีก่อน ที่สามารถเปิดการโอนเงินแบบ Real-time ขึ้นเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคนี้ จากความต้องการของลูกค้าธนาคารที่ต้องการส่งเงินกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ซึ่งทำให้คนไทยคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมประเภทนี้
“สิงคโปร์ยังมีระบบโอนเงิน Real-time ช้ากว่าไทยเลย เพราะสามารถขึ้นรถนำเงินไปให้ได้ทันที ประเทศไม่ได้ใหญ่แบบไทย ความต้องการจึงต่างกัน”
ส่วนประเด็นเรื่องบัตรเครดิตในไทย คุณเอเดรียน มองว่า ถึงแม้คนไทยจำนวนไม่น้อยจะมีบัตรเครดิตใช้ แต่ผู้ใช้จำนวนมากก็ไม่มีวงเงินเหลือพอที่จะใช้งาน อื่นๆ ได้ เพราะใช้บัตรเพื่อผ่อนสินค้า ผ่อนสมาร์ทโฟนไปแล้ว นอกจากนี้ คนไทยยังมีนิสัยเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์บ่อย ทำให้การทำธุรกรรมแบบอิเล็กทรอนิกส์หลายอย่างยุ่งยากขึ้นมาก เพราะต้องแจ้งธนาคารเพื่อเปลี่ยนเบอร์รับรหัส OTP และเหตุผลอีกประการที่ทำให้การใช้บัตรเครดิตในไทยยังไม่ค่อยนิยมคือ ความกังวลเรื่องบัตรเครดิตโดนแฮก คนไทยส่วนหนึ่งรู้สึกว่าการโอนเงินจ่ายค่าสินค้ามันก็จบเป็นชิ้นๆ ไป ถ้าโดนโกงก็โดนแค่ในส่วนนั้น แต่ถ้าโดนแฮกบัตรเครดิตจะต้องเสียเงินทั้งหมดที่สามารถใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้ ถึงจะสามารถโวยวายกับบริษัทบัตรเครดิตได้ แต่ก็เป็นเรื่องวุ่นวายที่ไม่อยากจะทำ จึงเลือกที่จะไม่ใช้ไปเลยดีกว่า
แต่หลังๆ อนาคตการใช้บัตรเครดิตในไทยก็น่าจะดีขึ้น เพราะมีหลายๆ บริการที่ช่วยให้การใช้บัตรนั้นง่ายขึ้น เช่น LINE Pay ที่ชื่อเสียงของ LINE นั้น คนไทยค่อนข้างสนิทใจอยู่แล้ว พอมีบริการนี้มาช่วยเก็บหมายเลขบัตรเครดิต ช่วยทำให้การจ่ายง่ายขึ้น แล้วก็ดูน่าเชื่อถือ ก็น่าจะทำให้ธุรกรรมที่เหมาะสำหรับ E-Commerce อย่างบัตรเครดิตโตขึ้นได้
สำหรับการแข่งขันด้าน E-Commerce ที่กำลังร้อนแรงอยู่ในตอนนี้ ก็มองว่าเป็นการแข่งขันเพื่อเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากขึ้น ซึ่งตรงจุดนี้ใครที่มีเงินทุนเยอะกว่าก็สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่า ซึ่งการรวมตัวกันเป็นหน้าร้านแบบ Marketplace ในเว็บฯ ซื้อ-ขายขนาดใหญ่ ก็มีข้อดีสำหรับผู้ซื้อคือ ค้นหาของได้ง่ายขึ้น ผู้ขายก็สามารถนำเสนอสินค้ากับคนกลุ่มใหญ่ขึ้น แต่ข้อเสียสำคัญที่ผู้ค้าต้องคำนึงคือ เมื่อมีร้านค้าจำนวนมากใน Marketplace ก็ย่อมแข่งขันด้านราคาอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะคำค้นเดียวกันก็จะขึ้นสินค้าแบบเดียวกันออกมาเต็มไปหมด ซึ่งร้านค้าที่สามารถทำราคาได้ต่ำก็จะเป็นผู้ได้ลูกค้าไป
ในส่วน E-Commerce ที่กำลังรุกมาจากต่างประเทศ เช่น สั่งซื้อของจาก eBay หรือ AliExpress ที่ไม่ผ่านผู้ค้าไทย ไม่ผ่านขนส่งของไทย คุณเอเดรียน ก็มองว่า เรื่องนี้ยังมีกำแพงอยู่หลายอย่างที่ทำให้คนยังไม่ได้ไหลไปทางนี้มาก คือระยะเวลาการจัดส่งสินค้าที่นานกว่าการส่งในประเทศตามปกติ อาจต้องรอเป็นเดือนกว่าจะได้สินค้าสักชิ้นหนึ่ง หรือความวุ่นวายในการเคลมสินค้าในกรณีที่สินค้ามีปัญหา ที่ต้องส่งสินค้าข้ามประเทศกลับไป ซึ่งก็เป็นความกังวลของผู้ซื้อที่ยังทำให้การซื้อชะลอตัวอยู่ แต่ผู้ค้าในไทยก็ต้องปรับตัวทั้งการหาสินค้าที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง หรือมีเทคนิคการขายที่แตกต่างออกไปเพื่อดึงดูดลูกค้าในประเทศไว้ให้ได้
ก็น่าติดตามนะครับว่า ธุรกิจใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับวิถีชีวิต วิถีธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันนั้นจะเติบโตต่อไปอย่างไรในอนาคต Sokochan จะสามารถเปลี่ยนวิธีคิดของผู้ค้าออนไลน์ในแง่การจัดการสต็อก แพ็คของ ส่งของได้หรือไม่ แต่สำหรับใครที่สนใจบริการของ Sokochan ก็สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sokochan.com ครับ
[efspanel style=”” type=””]
[efspanel-header]
Contributor
[/efspanel-header]
[efspanel-content]
Eka-X
เอกพล ชูเชิด
วุ่นวายกับเทคโนโลยีมาตั้งแต่เยาว์วัย จนเริ่มมีอายุเยอะก็จับคีย์บอร์ดหาเลี้ยงชีพด้วยงานเขียนด้านเทคโนโลยีมาตลอด ทั้งยังเปิด Aofapp.com เว็บไซต์ส่วนตัวที่เล็กมากๆ เพื่อเขียนรีวิวแอพฯ มือถือเรื่อยๆ ในเวลาว่าง ถึงจะสาหัสกับงานขนาดไหนก็ยังเขียน แชร์ บ่นไปเรื่อยใน Twitter
Twitter: Twitter.com/eka_x
[/efspanel-content]
[/efspanel]