เมื่อแอพฯ กลายเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต จึงทำให้เกิดงาน Global Mobile App Summit & Awards 2016 (GMASA) ครั้งที่ 2 ในประเทศไทย โดย Apps World Mag มีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับกลยุทธ์การบริหารจัดการและอัพเดตเทรนด์ใหม่ๆ
ผู้พัฒนาที่ต้องการเรียนรู้ก่อนสร้างธุรกิจ ก็สามารถเริ่มทำแอพฯ ฟรีให้ผู้บริโภคใช้และหาแนวทางสำหรับตัวเองเพื่อเป็นการสร้างโปรไฟล์และพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้
แอพพลิเคชั่นในตลาดปัจจุบันมีมากกว่า 3 ล้านแอพฯ หากจะให้แบ่งประเภทคงเหลือเพียงไม่กี่ประเภท แต่ถึงแม้ว่าจะมีบางส่วนที่ติดตลาดอยู่แล้ว แต่การพัฒนาแอพฯ ใหม่ๆ ออกมาก็มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการประสบความสำเร็จของนักพัฒนาหน้าใหม่มีน้อยลงไป
ตามข้อมูลจาก Applift ผู้ให้บริการด้านบริการการตลาดของแอพฯ บนโทรศัพท์มือถือพบว่า ประเทศไทยประเภทแอพฯ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ แอพฯ ถ่ายภาพ และเกม ซึ่งตลาดแอพฯ เกมของประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และถึงแม้จะยังไม่ใหญ่มากเท่ากับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่ก็มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี โดยผลประกอบการในปี พ.ศ. 2557 นั้นสูงถึง 93.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และน่าจะขึ้นสูงถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ.2560 ผลประกอบการของเกมทั้งหมดในไทยนั้นกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ มาจาก แอพฯ เกมบนโทรศัพท์มือถือ และคาดว่าจะขึ้นเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ. 2560
หลักสำคัญก่อนสร้างสรรค์แอพฯ
เมื่อเริ่มต้นมีความคิดที่จะหาไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงาน คงเป็นเรื่องยากที่จะชี้แนะให้ใครควรทำอย่างไรหรือเจาะจงนำส่วนไหนมาใช้ เพราะทุกๆ สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวสามารถนำมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ต่อยอดไปได้ อันที่จริงประเภทของแอพพลิเคชั่นก็สามารถแบ่งออกได้ไม่กี่ประเภทเท่านั้น ซึ่งแต่ละประเภทความต้องการของตลาดก็แตกต่างกันออกไป
ขั้นตอนการทำงานของผู้พัฒนาแต่ละคนอาจจะไม่ได้เหมือนกันไปทั้งหมด แต่หนึ่งสิ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องทำคือ การค้นหาข้อมูลที่ต้องการ โดยเฉพาะการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งทั่วไปอาจจะศึกษาเนื้อหาเฉพาะสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ และความต้องการของตลาดเท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากที่ควรทำคือ การศึกษาจากเจ้าตลาด และคู่แข่ง เพื่อให้มองเห็นถึงจุดเด่นและจุดด้อยของแต่ละแอพฯ เพื่อปรับและพัฒนาให้กับตัวเอง ซึ่งต้องเน้นย้ำว่าไม่ใช่การศึกษาเพื่อลอกเลียนแบบ และนำสิ่งนี้มาใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์เด่นของตัวเอง
ปราชานท์ ดิ๊กซิต รองประธานและหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจสากลของวีแม๊กซ์ กล่าวว่า ข้อสำคัญในการริเริ่มสร้างสรรค์แอพฯ คือ ต้องวางแผนในสิ่งที่จะทำทั้งเรื่องประเภทของแอพฯ และวิธีการทำงาน โดยต้องมีความกล้าเสี่ยงด้วยความคิดที่แตกต่าง หลักง่ายๆ คือ ต้องกล้าที่จะท้าทายตัวเอง ไม่ต้องกังวลถึงขอบเขตที่มีอยู่ ทั้งทางด้านเนื้อหาและดีไซน์ แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงฟอร์แมตที่จะใช้งานด้วยว่ามีประสิทธิภาพการทำงานอย่างไร และหาจุดเด่นของสิ่งที่เรากำลังจะทำให้เจอแล้วลงมือทำ ส่วนความคิดที่จะปล่อยให้ใช้งานได้ฟรี หรือชำระเงินก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะส่งผลต่อการเลือกใช้งานของผู้บริโภคด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นต้องคำนึงถึงข้อนี้ด้วยว่า การจ่ายเงินให้กับแอพฯ ผู้บริโภคจะได้สิ่งที่คุ้มค่าคุ้มราคามากที่สุด
เคล็บลับการพัฒนาและข้อควรระวัง ในการทำผลงานให้ประสบความสำเร็จ
เหล่าผู้พัฒนาทั้งหลายเมื่อสร้างสรรค์ผลงานออกมาแล้วย่อมต้องมองไปหาแนวทางของการต่อยอด เพื่อประสบความสำเร็จทั้งสร้างรายได้ แต่มีปัจจัยหลายอย่างเช่นกันที่ทำให้ผลงานนั้นไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีข้อควรทำบางอย่างที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้นด้วย
พฤติกรรมท้องถิ่นของผู้บริโภคเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม เพราะต้องการผลิตผลงานที่เป็นสากล แต่กลับเป็นสิ่งแรกที่ควรคำนึงถึง โดยเชื่อว่าเรื่องความต้องการของตลาดหลายคนจะไม่มองข้ามไป แต่ส่วนของปัจจัยอื่นๆ อาทิ อุปกรณ์การใช้งานถือว่ามีผลอย่างมาก เนื่องจากแต่ละประเทศก็มีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน อย่างในประเทศไทยพื้นที่ในการเริ่มต้นที่ดีของแอพฯ คือ การปล่อยลงในเพลย์สโตร์ อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ ทางด้านภาษาที่หลายคนเชื่อว่าใช้ภาษาอังกฤษเพื่อความเป็นสากล แต่อันที่จริงตลาดในไทยชื่นชอบในระบบที่มีภาษาไทยด้วยมากกว่า
โดยข้อสำคัญที่นักพัฒนาหน้าใหม่จำเป็นต้องตระหนักไว้คือ การเข้าไปอยู่ในมือถือไม่ได้นับว่าประสบความสำเร็จ แต่การสร้างความจงรักภักดีต่างหากที่ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ดังนั้น การสร้างลูกเล่นที่แปลก แตกต่างออกมาเรื่อยๆ จะสามารถสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะทางด้านกราฟิก หากสามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ใช้งานได้ นับว่าเป็นการทำคะแนนที่ดีอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ การส่งสารต่างๆ ผ่านแอพฯ สามารถทำได้เช่นกัน แต่ไม่ควรมากเกินไปถึงขั้นสร้างความน่ารำคาญ ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการควรทำแต่เพียงพอดี อย่างง่ายที่สุดคือ การจัดกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาล หรือตามโอกาสพิเศษ และยังต้องมีช่องทางเพื่ออัพเดตข่าวสาร รับฟังปัญหา เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาด้วย
ข้อสำคัญที่หลายคนพลาดคือ ไม่มีการทำการตลาดล่วงหน้า ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ควรทำก่อนเพื่อให้มีการทำความรู้จักกับตัวแอพฯ อีกข้อหนึ่งคือ การปล่อยแอพฯ ให้ดาวน์โหลดทั้งที่ยังไม่สมบูรณ์ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะภาพจำของผู้ใช้งานคือการใช้งานเป็นครั้งแรก หากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นจะส่งผลให้ความรู้สึกต่อแอพฯ นั้นเป็นไปในทางลบทันที
ฉบับที่ 206 เดือนกุมภาพันธ์การแข่งขันบริการ Streaming บน 4G |
วิธีการโฆษณาและหารายได้
เมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่หลายรายเข้ามาในตลาด การแข่งขันจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนต้องการให้ผลงานของตัวเองเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างรายได้
ณัฐพัชญ์ วงเหรียญทอง รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดดิจิทัล บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การทำการสื่อสารกับลูกค้าโดยตรงคือวิธีการที่จะประสบความสำเร็จได้ง่าย ทำอย่างไรก็ได้ให้มีการพูดถึงมากที่สุด คนไทยโดยส่วนมากจะโหลดแอพฯ จากชาร์ตที่ทางสโตร์จัดไว้ ซึ่งการทำตรงนี้อาจจะเป็นไวรัลที่ทำให้คนพูดถึง แต่ควรทำในแบบที่สร้างสรรค์ ทำให้แอพฯ อยู่ได้ด้วยความสามารถของมันเอง
วิธีการประชาสัมพันธ์ที่น่าสนใจคือ การค้นหาพาร์ตเนอร์ทางโฆษณามาช่วย โดยช่องทางที่เป็นเทรนด์ในปี 2559 นี้คือ การใช้คลิปวิดีโอเพื่อการสื่อสาร โดยระยะเวลาของคลิปจะไม่มากกว่า 20 วินาที ซึ่งผู้พัฒนาต้องสร้างความดึงดูดใจให้ได้ภายในเวลาที่จำกัดนี้ด้วยวิธีง่ายๆ คือ ให้คำอธิบายที่ชัดเจน และแสดงความสามารถที่โดดเด่นของแอพฯ ออกมา สำหรับช่องทางการปล่อยวิดีโอที่ได้รับความนิยม ได้แก่ YouTube และ Facebook Video ที่ผู้พัฒนาจะได้รับค่าตอบแทนในเรทเดียวกัน คือผู้ผลิต Video ได้รับ 55 เปอร์เซ็นต์ และ Facebook/YouTubeได้ 45 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการใช้วิดีโอเหล่านี้ก็จะใช้ได้ในสื่ออื่นๆ ได้อีกด้วย ทั้งนี้หากเลือกการโฆษณาบนเว็บฯ ควรจะเป็นเว็บฯ ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ โดยการเลือกเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์
สำหรับการโฆษณาลักษณะแบนเนอร์ขนาดมาตรฐานที่ปรากฏอยู่ในหน้าจอของแอพฯ ถือเป็นการทำเงินแบบง่ายๆ ให้กับแอพฯ ที่ให้ใช้งานได้ฟรี ซึ่งก็สามารถให้ทางเลือกด้วยการขายฟังก์ชั่นปิดโฆษณา ไม่ให้แสดงผลขึ้นมารบกวนอีก ในราคา $0.99 หรือ $1.99 อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้การซื้อบริการเสริมในแอพฯ (In app Purchase) ก็เป็น โมเดลการหารายได้ที่สร้างรายได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้มีข้อจำกัดตรงที่สามารถใช้ได้กับแอพฯ ที่มีฐานผู้ใช้งานที่มีคุณภาพและพร้อมลงทุนเท่านั้น
ซีอาร์ เวนกาเตช กรรมการผู้จัดการและ CEO บริษัท Dot Com Infoway ผู้จัดงานครั้งนี้ กล่าวสรุปว่า 4G ในประเทศไทยทำให้ตลาดแอพฯ เติบโตขึ้นอย่างแน่นอน บรรดาผู้บริโภคเองจะเลือกใช้แอพฯ ที่ตอบโจทย์ได้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองมากที่สุด แต่หากมีตัวเลือกที่หลากหลายและความสามารถใกล้เคียงกัน ขนาดของแอพฯ ที่ใช้จะมีผล เพราะว่าหน่วยความจำของแต่ละอุปกรณ์ต่างกัน ส่วนที่ใช้ความจำน้อยกว่านับว่ามีโอกาสมากกว่าด้วย และสำหรับแอพฯ ที่ต้องชำระเงิน อย่าลืมว่ามีคู่แข่งเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาปรับปรุงเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ให้ได้
และสำหรับผู้พัฒนาแอพฯ ที่พร้อมและต้องการหาเงินทุนสนับสนุน เพื่อก้าวสู่การเป็น Start up เชื่อว่าในประเทศไทยจะเริ่มมีแหล่งเงินทุนเข้ามาเรื่อยๆ เนื่องจากปัจจุบันก็มีการประกวดจากหลายองค์กร และภาครัฐมีความสนใจในการพัฒนาวิทยาการด้านเทคโนโลยีไม่น้อย ส่วนผู้พัฒนาที่ต้องการเรียนรู้ก่อนสร้างธุรกิจ ก็สามารถเริ่มทำแอพฯ ฟรีให้ผู้บริโภคใช้ และหาแนวทางสำหรับตัวเองเพื่อเป็นการสร้างโปรไฟล์และพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้