ในช่วงเดือนเมษายนปี 2015 ที่ผ่านมานี้ มีการเปิดตัวอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะตัวใหม่นั่นก็คือ Apple Watch ที่ได้รับความสนใจอย่างมหาศาลจากทั้งผู้ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและบุคคลทั่วไป บริษัท Apple แถลงข่าวว่ายอดจองล่วงหน้าของ Apple Watch ในอเมริกาในวันเปิดจองแค่วันเดียวมีจำนวนถึงเกือบหนึ่งล้านเครื่อง [1] ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่ายอดซื้อนาฬิกาอัจฉริยะประเภท Android Wear รวมกันทั้งหมดในปี 2014 เสียอีก
[efscolumn lg=”6″ md=”6″ smoff=”0″ mdoff=”0″ lgoff=”0″ ]
[/efscolumn]
[efscolumn lg=”6″ md=”6″ smoff=”0″ mdoff=”0″ lgoff=”0″ ]
[/efscolumn]
ดังนั้น ยอดขายที่สูงถล่มทลายนี้เป็นตัวบ่งชี้ตัวหนึ่งว่า ยุคของอุปกรณ์อัจฉริยะแบบสวมใส่โดยเฉพาะนาฬิกาอัจฉริยะได้มาถึงแล้ว เมื่อผู้บริโภคเข้าถึงและเริ่มใช้นาฬิกาอัจฉริยะเป็นจำนวนมากก็จะทำให้เกิดการรับรู้ (Awareness) ถึงผลิตภัณฑ์นี้ของบุคคลอื่นที่อาจจะกลายมาเป็นผู้บริโภคในอนาคต แน่นอนว่า ราคาของ Apple Watch ที่ค่อนข้างสูงจะทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งมองหาตัวเลือกที่เหมาะสมกับพวกเขามากกว่า ดังนั้นถึงแม้ว่ายอดขายของ Android Wear ปีที่แล้วจะค่อนข้างต่ำ แต่ผมมองว่าก็มีช่องทางเติบโตที่สดใสครับ
อย่างไรก็ดี ผมเคยเขียนบทความถึงปัญหาของนาฬิกาอัจฉริยะที่อาจทำให้เมื่อนำไปใช้งานจริงแล้วจะสร้างความผิดหวังหรือหงุดหงิดในการใช้งานได้ หนึ่งในประเด็นที่ผมยกขึ้นมาก็คือ เรื่องของการโต้ตอบกับผู้ใช้ เนื่องจากหน้าจอสัมผัสของนาฬิกามีขนาดเล็กจะทำให้การแสดงผลและพิมพ์ข้อความทำได้ลำบาก ซึ่งตอนนี้ทางผู้ผลิตส่วนมากจะแก้ปัญหาโดยใช้การสื่อสารด้วยเสียงผ่านระบบวิเคราะห์คำพูด (เช่น Siri ของ Apple) ซึ่งก็ใช้งานได้ค่อนข้างดีทีเดียว
แต่การใช้เสียงสั่งงานหรือสั่งพิมพ์ข้อความด้วยเสียงนั้นก็ไม่เหมาะกับการใช้งานในทุกสถานที่ทุกกรณี เช่น ในสถานที่ที่มีเสียงดังรบกวน หรือสถานที่ที่ต้องการความเงียบ หรือกรณีที่ผู้ใช้ไม่ต้องการให้คนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงรับรู้ข้อมูลที่สั่งพิมพ์ เป็นต้น ดังนั้น การพิมพ์ข้อความผ่านคีย์บอร์ดก็ยังมีประโยชน์ ในบทความนี้ผมจะนำเสนอคีย์บอร์ดแบบใหม่สามประเภทที่นักวิจัยด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ได้คิดค้นทดสอบเพื่อให้การพิมพ์ข้อความบนนาฬิกาอัจฉริยะมีความสะดวกมากขึ้น [2]
![]() |
ฉบับที่ 198 เดือนมิถุนายนไอทีเชื่อมสู่ท้องถิ่นแบบ Social Enterprise |
ZoomBoard
Zoomboard [3] เป็นซอฟต์แวร์คีย์บอร์ดขนาดเล็กที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนคีย์บอร์ดปกติ ทั่วไปที่มีการจัดวางคีย์แบบ QWERTY ซึ่งพัฒนาโดยนักวิจัยที่ Carnegie Mellon University ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อนำคีย์บอร์ดไปใช้กับนาฬิกาอัจฉริยะนั้นเริ่มต้นปุ่มกดจะเล็กมาก แต่เมื่อผู้ใช้กดปุ่มจะมีการขยายขนาดคีย์บอร์ดตรงตำแหน่งที่ผู้ใช้กด เพื่อให้ผู้ใช้กดปุ่มที่ต้องการอีกครั้ง ถ้าผู้ใช้ยังกดไม่ถูกต้อง (นั่นคือถ้าโปรแกรมยังไม่แน่ใจว่าผู้ใช้กดปุ่มไหน) ก็จะมีการขยายขนาดคีย์บอร์ดตรงบริเวณที่ผู้ใช้กดเพื่อให้ผู้ใช้เลือกปุ่มอีก ครั้งหนึ่ง เมื่อกดปุ่มแล้วคีย์บอร์ดจะย่อขนาดไปเป็นเหมือนเดิม
จะเห็นว่า การกดเลือกตัวอักษรหนึ่งตัวบน ZoomBoard จะต้องกดอย่างน้อย 2 ครั้งนะครับ คือครั้งแรกเพื่อขยายคีย์บอร์ดและ (อย่างน้อย) อีกหนึ่งครั้งเพื่อเลือกตัวอักษร ถ้าต้องการพิมพ์ตัวใหญ่ก็จะต้องกดปุ่มค้าง ถ้าต้องการจะกดเครื่องหมายสัญลักษณ์ต่างๆ จะใช้การปัดหน้าจอขึ้นเพื่อเปลี่ยนให้เป็นคีย์บอร์ดของสัญลักษณ์ การปัดหน้าจอไปทางซ้ายจะเป็นการลบตัวอักษร และการปัดหน้าจอไปทางขวาจะเป็นการพิมพ์ช่องว่าง
เมื่อทางผู้วิจัยได้นำ ZoomBoard ไปทดสอบการใช้งานพบว่า ผู้ใช้เรียนรู้การใช้งานได้อย่างรวดเร็ว และพิมพ์ได้ด้วยอัตราประมาณ 9 คำต่อนาที และต้องกดปุ่มเฉลี่ย 2.15 ครั้งต่อหนึ่งตัวอักษร ซึ่งเป็นอัตราการพิมพ์ที่ค่อนข้างต่ำนะครับ เนื่องจากผู้ใช้ต้องรอการโต้ตอบจากคีย์บอร์ดตอนขยายหรือย่อขนาด
การสั่งพิมพ์ข้อความด้วยเสียงนั้นไม่เหมาะกับการใช้งานในทุกสถานที่ทุกกรณี เช่น ในสถานที่ที่มีเสียงดังรบกวน หรือสถานที่ที่ต้องการความเงียบ หรือกรณีที่ผู้ใช้ไม่ต้องการให้คนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงรับรู้ข้อมูลที่สั่งพิมพ์
H4-Writer
การนำคีย์บอร์ดซึ่งมีปุ่มจำนวนมากไปใส่ในจอขนาดเล็กก็ย่อมทำให้ปุ่มต้องมี ขนาดเล็กตามไปด้วย คำถามที่น่าสนใจก็คือ คีย์บอร์ดจำเป็นต้องมีปุ่มมากขนาดที่เราเคยใช้หรือเปล่า ใช้จำนวนปุ่มน้อยกว่านั้นได้ไหม สมมติว่าตัวอักษรภาษาอังกฤษมี 26 ตัว เราจำเป็นต้องมี 26 ปุ่มบนคีย์บอร์ด หนึ่งปุ่มสำหรับอักษรหนึ่งตัวหรือไม่ ถ้าเราสังเกตคีย์บอร์ดภาษาไทยจะเห็นชัดเจนว่าหนึ่งปุ่มใช้แทนอักษรสองตัว หรือถ้านึกย้อนไปถึงโทรศัพท์ก่อนที่จะเป็นสมาร์ทโฟนก็จะพอจำกันได้ว่าหนึ่ง ปุ่มใช้แทน 3-4 อักษร เช่น ปุ่มเลข 1 ใช้พิมพ์อักษร a b หรือ c เลข 2 ใช้พิมพ์ d e หรือ f แล้วใช้วิธีกดปุ่มหลายครั้งเพื่อเปลี่ยนตัวอักษร ถ้าเช่นนั้นแล้วเราควรจะออกแบบคีย์บอร์ดสำหรับนาฬิกาอัจฉริยะให้มีกี่ปุ่มดี และแต่ละปุ่มใช้แทนตัวอักษรใดบ้าง
นักวิจัยจาก York University และ University of Toronto จากแคนาดาได้ทดลองออกแบบคีย์บอร์ด H4-Writer ที่มีแค่ 4 ปุ่ม [4] นั่นคือ บน ล่าง ซ้าย ขวา (ใช้สัญลักษณ์แทนว่า U D L R ตามลำดับ) ตัวอักษรและสัญลักษณ์แต่ละตัวจะมีรหัสประจำตัวมัน เช่น ตัวอักษร e มีรหัสเป็น UU (กดปุ่มบนสองครั้ง) หรือตัวอักษร r มีรหัสเป็น DRR (ล่าง ขวา ขวา) เมื่อต้องการพิมพ์ตัวอักษรตัวใดก็ให้กดปุ่มบนล่างซ้ายขวาตามรหัสของอักษร นั้น
ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ตัวอักษรแต่ละตัวจะมีรหัสที่ยาวไม่เท่ากัน จากตัวอย่างข้างบนอักษร e จะกดปุ่ม 2 ครั้งในขณะที่ r จะกด 3 ครั้ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้วิจัยได้วิเคราะห์ความถี่ของตัวอักษรแต่ละตัวใน เอกสารต่างๆ ว่าอักษรไหนใช้บ่อยกว่ากัน และจะออกแบบให้อักษรที่ใช้บ่อยนั้นมีรหัสที่สั้นกว่า (เทคนิคนี้เรียกว่า Huffman Encoding นะครับ) ตัวอักษรที่ใช้ไม่บ่อยเช่น z นี่ต้องกด 5 ครั้งเลยครับ (DRLLL)
ถึงตรงนี้ผู้อ่านหลายท่านคงสงสัยว่า แล้วผู้ใช้จะจำรหัสได้อย่างไร ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของคีย์บอร์ดนี้ครับ คือผู้ใช้ต้องเรียนรู้การใช้งานใหม่ ตัวคีย์บอร์ดจะมี 4 ปุ่มอยู่บนล่างซ้ายขวา และจะแสดงตัวอักษรทั้งหมดที่เริ่มต้นด้วยปุ่มนั้นบนแต่ละปุ่ม เมื่อกดปุ่มไปหนึ่งปุ่มตัวอักษรบนคีย์บอร์ดก็จะเปลี่ยนไปเหลือแค่อักษรที่เริ่มต้นด้วยปุ่มนั้น เช่น เริ่มต้นปุ่ม ”บน” จะแสดงตัวอักษร e (UU), i (UD), n (UR), h (UL) อยู่ พอเรากดปุ่มบนครั้งแรก ตัวอักษรบนปุ่มบนจะเหลือแค่ e และตัวอักษรบนปุ่มล่างจะกลายเป็น i ปุ่มซ้ายจะกลายเป็น h และปุ่มขวาจะกลายเป็น n
ผู้วิจัยได้ทำการทดลองการใช้งานคีย์บอร์ด H4-Writer นี้พบว่า ผู้ใช้ที่ใช้คีย์บอร์ดนี้ครั้งแรกพิมพ์ได้ด้วยอัตราแค่ 7.7 คำต่อนาทีเท่านั้น เพราะยังจำรหัสอักษรไม่ได้ แต่พอทดลองใช้ไปเรื่อยๆ จนถึงครั้งที่ 10 (การใช้งาน 1 ครั้งประมาณ 40 นาที) พบว่า อัตราการพิมพ์เพิ่มขึ้นเป็นถึง 20.4 คำต่อนาทีเลยครับ นอกจากนี้ผู้ใช้ยังต้องกดปุ่มเฉลี่ยแค่ 2.32 ครั้งต่อหนึ่งตัวอักษรเท่านั้นเอง ผู้วิจัยคาดว่า ถ้าผู้ใช้จำรหัสได้จากการใช้บ่อยๆ ก็จะสามารถพิมพ์โดยไม่ต้องมองได้เลย นอกจากนี้ เทคนิคนี้ยังสามารถนำไปใช้กับอุปกรณ์อื่นที่มีข้อจำกัดด้านปุ่มได้เช่นกัน เช่น การใช้จอยสติ๊กที่เล่นเกมแทนคีย์บอร์ด (จอยสติ๊กส่วนมากมี 4 ปุ่มอยู่แล้ว) หรือใช้รีโมตพิมพ์ตัวอักษรบนสมาร์ททีวี เป็นต้น
ผู้พัฒนาชาวไทยนั้นยังมีช่องทางที่จะคิดสร้างคีย์บอร์ดใหม่เพิ่มเติมอีกนะครับ เพราะตัวอย่างที่ผมยกมานั้นเป็นคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษทั้งหมด
1Line Keyboard / Minuum
คีย์บอร์ดแบบสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ คีย์บอร์ดที่ใช้ซอฟต์แวร์ช่วยเลือกคำที่จะพิมพ์ครับ 1Line Keyboard [6] จะยุบรวมคีย์สามแถวให้เหลือแถวเดียว นั่นคือจะเหลือแค่สิบปุ่ม ปุ่มแรกจะใช้พิมพ์อักษร q, a, และ z (ปุ่มแรกของแต่ละแถวในคีย์บอร์ดแบบเดิม) ปุ่มที่สองจะเป็น w, s, และ x ตามลำดับ จุดที่น่าสนใจก็คือว่า ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเลือกว่าจะใช้อักษรใดจากปุ่มนั้นเองนะครับ แต่พอพิมพ์ไปเรื่อยๆ ซอฟต์แวร์จะคำนวณหาคำที่เป็นไปได้จากปุ่มที่เรากด และนำคำเหล่านั้นมาให้ผู้ใช้เลือกอีกที เช่น ถ้าเราจะพิมพ์คำว่า Line ก็จะกดปุ่มที่ 9 (o,l) แล้วก็ปุ่มที่ 8 (i,k) ตอนแรกซอฟต์แวร์จะคาดเดาว่าเราต้องการพิมพ์คำว่า “ok” ก็จะเสนอคำนี้มาให้เลือก แต่พอเรากดปุ่มที่ 6 (y,h,n) ต่อซอฟต์แวร์ก็จะรู้แล้วว่าเราไม่ต้องการคำว่า ok ก็จะหาคำอื่นมาเสนอต่อ ซึ่งจากการกดสามปุ่มนี้ตามลำดับคำที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ “Line”
จากการทดสอบพบว่า 1Line Keyboard นี้พิมพ์ได้เร็วมากถึง 30.7 คำต่อวินาที และกดปุ่มเฉลี่ย 1.31 ครั้งต่อตัวอักษรเท่านั้นเอง เป็นเพราะการวางคีย์เป็นตามรูปแบบเดิมทำให้ผู้ใช้เข้าใจได้ง่าย และการใช้ซอฟต์แวร์ช่วยเลือกคำที่น่าจะเป็นไปได้ก็ทำให้ไม่ต้องกดปุ่มมากคร้ังด้วย
คีย์บอร์ดอีกตัวที่ทำงานคล้ายกันก็คือ Minuum [7] ที่ยุบสามแถวลงเหลือแถวเดียวเช่นกัน แต่ไม่ได้รวมเป็นสิบปุ่มเหมือน 1Line Keyboard แต่ละตัวอักษรยังอยู่บนปุ่มเดียว และปุ่มมีขนาดเล็กมาก แต่ Minuum จะใช้เทคนิคปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงในการช่วยตัดสินใจว่าลำดับปุ่มที่ผู้ใช้กดน่าจะหมายถึงคำไหน (ใช้เทคนิคของ Bayes’s Theorem ประกอบกับความถี่ของคำที่เกิดในเอกสารต่างๆ) ทั้งยังสามารถคาดเดาคำที่น่าจะเป็นจากคำก่อนหน้าด้วย
สรุป
ปัจจุบันการใช้งานคีย์บอร์ดบนอุปกรณ์ที่มีขนาดต่างกัน ทำให้ผู้พัฒนาต้องคิดถึงวิธีการสร้างคีย์บอร์ดในรูปแบบใหม่ขึ้นมาให้เหมาะสมกับการใช้งาน ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจในการทำวิจัยและพัฒนาเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นว่ามีทั้งนักวิจัยและผู้ผลิตซอฟต์แวร์ต่างพากันคิดถึงวิธีการพิมพ์ในรูปแบบที่หลากหลาย สำหรับผู้พัฒนาชาวไทยนั้นยังมีช่องทางที่จะคิดสร้างคีย์บอร์ดใหม่เพิ่มเติมอีกนะครับ เพราะตัวอย่างที่ผมยกมานั้นเป็นคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษทั้งหมด อักษรไทยมีจำนวนมากกว่าอักษรอังกฤษ การสร้างคีย์บอร์ดไทยบนหน้าจอขนาดเล็กจึงเป็นความท้าทายที่สูงกว่า และอาจจะต้องคิดนอกกรอบกันบ้าง