นักวิจัยใช้ AI นับจำนวนพะยูน ในทะเลเพื่ออนุรักษ์


1

เป็นที่รู้กันดีกว่าหนึ่งในสัตว์น้ำสายพันธ์ที่หายากและมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธ์สูงในปัจจุบันก็คือ พะยูน ซึ่งถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่รักสงบ แต่กลับต้องสูญเสียแหล่งอาหารตามแนวชายฝั่งไปเรื่อยๆ ทำให้อัตราการขยายพันธ์ต่ำ อีกทั้งนักอนุรักษ์ยังประสบปัญหาในการวางระบบสำหรับติดตามสำรวจประชากรพะยูนที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างมากอีกด้วย

และเพื่อเป้าหมายในการอนุรักษ์สัตว์ชนิดนี้เอง คณะวิจัยจาก Queensland University of Technology จึงได้ร่วมมือกับ Murdoch University ในการพัฒนาโดรนสำหรับใช้ถ่ายภาพสำรวจจำนวนประชากรของพะยูนในทะเลจากบนท้องฟ้า ทดแทนการใช้วิธีให้นักวิจัยขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อนับจำนวนด้วยตนเองซึ่งเสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้วิธีนี้ก็คือ ภาพถ่ายที่โดรนสำรวจและเก็บข้อมูลมาได้นั้นมีจำนวนมหาศาลกว่า 45,000 รูป ในแต่ละรอบการสำรวจ และโซลูชั่นที่สองสถาบันวิจัยเลือกมาใช้นั้นก็คือ การนำเอาระบบปัญญาประดิษฐ์แบบ Open Source ที่ชื่อว่า “Tensorflow” มาปรับใช้ในกระบวนการวิเคราะห์ภาพถ่ายเหล่านั้้น รวมถึงพัฒนาระบบให้สามารถเรียนรู้ (Machine Learning) เพื่อจะแยกแยะวัตถุที่เก็บภาพมาได้ว่าเป็นพะยูนหรือไม่ได้อย่างละเอียด

ทั้งนี้ หลังจากผ่านไป 1 ปี ผลการทดลองระบบออกมาเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจาก AI สามารถแยกแยะและตรวจจับพะยูนในภาพทะเลที่ถ่ายมาจากโดรนได้อย่างถูกต้องกว่า 80% เลยทีเดียว ซึ่งทีมวิจัยคาดหวังว่าระบบนี้จะไม่หยุดแค่การอนุรักษ์พะยูนเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้งานเพื่ออนุรักษ์สัตว์ทะเลอื่น เช่น วาฬหลังค่อม หรือปลาโลมาได้อีกในอนาคต