iYA Solution
ออกแบบทุกฟังก์ชั่น
ตอบโจทย์อุตสาหกรรม

สำหรับไอวายเอ โซลูชั่นเพิ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไม่นานหลังจากที่รวมกลุ่มกันทำงานในรูปแบบฟรีแลนซ์มาสักระยะจนตัดสินใจออกจากงานเพื่อมาเปิดบริษัทและรับงานออกแบบเว็บไซต์แบบครบวงจร ซึ่งงานที่เข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ต้องการปรับปรุงเว็บไซต์ให้ทันสมัยและตอบโจทย์กับการใช้งานของพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายในปัจจุบัน

2

3

4

บริการครบครัน
ณัฐพงศ์ ตรีวิชา Creative Web Design บริษัท ไอวายเอ โซลูชั่น จำกัด กล่าวว่า รูปแบบการให้บริการของบริษัทจะเน้นให้คำปรึกษาและออกแบบพัฒนาเว็บไซต์เป็นหลัก ส่วนบริการเสริมอื่นๆ ได้แก่ การให้บริการโดเมน โฮสติ้ง แก่ลูกค้า ให้สามารถเช่าบริการได้ และบริการติดตั้งกล้อง CCTV

ตอนนี้เทรนด์ของการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์จะไปในทิศทางเดียวกันคือ ทุกเว็บไซต์ต้องรองรับได้ในทุกดีไวซ์ ซึ่งเทคโนโลยีที่นักพัฒนานำมาใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการนี้เรียกว่า Responsive โดยฟีเจอร์นี้ถือเป็นความต้องการแรกของลูกค้า และเราจะนำเสนอให้กับลูกค้ากรณีที่เพิ่งคิดจะสร้างเว็บไซต์ให้กับบริษัทหรือแบรนด์ของตัวเอง

ส่วนรูปแบบการดีไซน์เว็บไซต์จะเป็นการทำงานร่วมกับลูกค้าในการกำหนดเลย์เอาท์ และฟังก์ชั่นต่างๆ ที่ลูกค้าต้องการ โดยไม่ได้มีการนำเสนอเลย์เอาท์ที่เป็นเทมแพลตให้ลูกค้าเลือก แต่จะทำตามความต้องการของลูกค้าและความเหมาะสมกับเนื้อหามากกว่า ซึ่งทำให้บริการแตกต่างจากผู้ให้บริการหลายอื่น และตอนนี้มีพนักงานทั้งฝ่ายกราฟิกดีไซเนอร์ และโปรแกรมเมอร์รองรับการทำงานทั้งหมด 7 คน

ดีไซน์โดนใจธุรกิจอุตสาหกรรม
ลูกค้าของไอวายเอส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดกลางในกลุ่มประเภทอุตสาหกรรมเป็นหลัก เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับวิศวกรรมโรงงาน ก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการดีไซน์เว็บไซต์จะเน้นความน่าเชื่อถือและทรงพลัง โดยสีและลูกเล่นภายในเว็บไซต์จะต้องแสดงให้เห็นถึงความสมาร์ทและเท่ให้กับธุรกิจ โดยหลังจากที่บริษัทรับงานให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ ปรากฏว่ามีการติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่องในธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งการเริ่มต้นทำเว็บไซต์ขึ้นนั้นใช้ทั้งหมด 2 ช่วง

ช่วงแรกเข้าไปนำเสนอผลงานที่เคยทำมา ช่วงสองคือเก็บความต้องการของลูกค้าและการนำข้อมูลมาเปรียบเทียบวิเคราะห์กับคู่แข่ง ส่วนการตลาดจะมีการแนะนำลูกค้า 2 รูปแบบ ได้แก่ การทำ SEO และ AdWords ให้กับลูกค้า โดยจะวางระบบการตลาดให้กับเว็บไซต์ลูกค้าด้วย รวมถึงการแนะนำในการดูแลเรื่องการตลาดต่อไปด้วยตัวเอง

e198

ฉบับที่ 198 เดือนมิถุนายน

ไอทีเชื่อมสู่ท้องถิ่นแบบ Social Enterprise

ธุรกิจอุตสาหกรรมที่หันมาขายสินค้าผ่านออนไลน์ ที่บริษัทได้ออกแบบให้และมีความน่าสนใจ เช่น บริษัท สิทธิผล ที่ทำธุรกิจกลุ่มยางชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งเราเริ่มต้นตั้งแต่การเข้าไปให้คำปรึกษา ออกแบบเลย์เอาท์ ร่างโครงสร้างออกแบบเว็บไซต์  และพัฒนาโปรแกรมออกแบบฟีเจอร์ต่างๆ ให้ตอบโจทย์ธุรกิจ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการดูระบบการตลาดให้กับเว็บไซต์ เพื่อดึงให้ลูกค้าสามารถเข้ามาซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง

แข่งขันสูงสร้างจุดต่างด้วยบริการ
ตอนนี้ธุรกิจหันมาใช้เว็บไซต์ในการทำการตลาดร่วมถึงการซื้อ-ขายสินค้า ซึ่งมีความคาดหวังสูงจากในอดีตอย่างมากที่มองเว็บไซต์เป็นเพียงช่องทางเสริมในการให้ข้อมูลเบื้องต้นหรือเหมือนนามบัตรออนไลน์ เพราะเมื่อพูดคุยกับลูกค้าต่างมีความต้องการอยากให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงข้อมูลและกิจกรรมของบริษัทผ่านช่องทางออนไลน์สูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์จากสื่อทั้งหมดที่มี เพราะมองว่าช่องทางออนไลน์เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญในยุคนี้ ที่จะช่วยให้เกิดการรับรู้แบรนด์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น

อุตสาหกรรมตลาดออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ตอนนี้แข่งขันกันสูง โดยเฉพาะเรื่องของราคาค่าทำเว็บไซต์ เพราะเดี๋ยวนี้เด็กที่จบใหม่หันมารับงานฟรีแลนซ์ในการทำเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นมากขึ้น ทำให้เกิดสงครามราคาตามไปด้วย เพราะมีตัวเลือกให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งบริษัทไม่สามารถไปแข่งราคากับกลุ่มฟรีแลนซ์หรือเด็กจบใหม่ได้มากเท่าไร จึงทำให้ต้องสร้างจุดแตกต่างคือ การให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้าแทน โดยจะมีการดูแลทั้งคอนเทนต์และเซิร์ฟเวอร์ ถ้ามีปัญหาสามารถแจ้งเข้ามาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทีมงานจะเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ทันที

นอกจากนี้ ได้ให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาเรื่องความสำคัญของการเผยแพร่ข้อมูลทางธุรกิจผ่านโมบายล์ไซต์และโมบายล์แอพพลิเคชั่น เพราะตอนนี้เจ้าของธุรกิจยังไม่เข้าใจและมีการปรับปรุงเว็บไซต์รองรับดีไวซ์ใหม่ๆ นี้น้อยมาก ซึ่งถ้ามีลูกค้าติดต่อเข้ามาจะแนะนำในส่วนของการปรับปรุงเว็บไซต์ให้เป็น Responsive ด้วย เพื่อให้รองรับการใช้งานในทุกๆ ดีไวซ์ และงบลงทุนไม่สูงเท่ากับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้วย

1

ปีนี้ธุรกิจการเกษตรเข้ามาสู่ออนไลน์มากขึ้น เห็นได้จากจำนวนลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจการเกษตรและมีความต้องการจะสร้างเว็บไซต์ขายสินค้าผ่านออนไลน์

นำ Open Source ต่อยอดเว็บไซต์
จีรพงค์ สินทับทอง นักพัฒนาระบบ บริษัท บริษัท ไอวายเอ โซลูชั่น จำกัด กล่าวต่อว่า เทคโนโลยีที่นำมาพัฒนาเว็บไซต์ให้กับลูกค้าจะใช้เทคโนโลยีที่เป็น Open Source มาปรับเปลี่ยนแก้ไขโค้ดให้สามารถรองรับกับฟีเจอร์ต่างๆ ที่ลูกค้าต้องการบนเว็บไซต์ได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะการนำ Open Source มา ใช้ทำให้ลดขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างมาก เราเพียงพัฒนาแก้ไขโค้ดเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานบนเว็บไซต์ของลูกค้าเท่านั้น จึงช่วยให้การทำงานของฝ่ายโปรแกรมเมอร์ลดลง แต่ยังคงประสิทธิภาพเช่นเดิม ดังนั้นการรับงานออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์แต่ละชิ้นเข้ามา จึงทำให้สามารถผลิตผลงานให้กับลูกค้าได้ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น

การเกษตรเข้ามาออนไลน์มากขึ้น
ณัฐพงศ์ กล่าวเสริมว่า ปีนี้ธุรกิจการเกษตรเข้ามาสู่ออนไลน์มากขึ้น เห็นได้จากจำนวนลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจการเกษตรและมีความต้องการจะสร้างเว็บไซต์ขายสินค้าผ่านออนไลน์ หรือสร้างเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูลสินค้าและบริการ เพื่อประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเกษตรกรยุคใหม่เริ่มมองเห็นถึงโอกาสทางการตลาดบนโลกออนไลน์ที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนในการประชาสัมพันธ์สูงเหมือนสื่ออื่นๆ และเกษตรกรรุ่นลูกหรือหลานที่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น ทำให้นำความรู้กลับไปพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด

นอกจากนี้ เกษตรกรต่างจังหวัดเริ่มหันมาใช้ออนไลน์ในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น ทั้งผ่านเฟซบุ๊กหรือไลน์ และส่วนหนึ่งเริ่มมีโทรศัพท์มือถือที่เป็นสมาร์ทโฟนใช้งานกันบางแล้ว ทำให้การเข้าถึงข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น จึงทำให้เกษตรยุคใหม่มองเห็นถึงความสำคัญกับช่องทางออนไลน์และคิดว่าควรนำมาต่อยอดให้กับอาชีพที่ทำอยู่ขณะนี้

จีรพงค์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นระบบของเว็บไซต์จึงได้มีการออกแบบให้เชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียที่คนไทยนิยมคือ เฟซบุ๊ก เมื่อมีการอัพเดตข้อมูลจะมีการแสดงผลทั้งบนเว็บไซต์และหน้าไทม์ไลน์ของลูกค้าทันที ฟีเจอร์นี้จะทำให้ประหยัดขั้นตอนในการอัพเดตคอนเทนต์และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในช่องทางเฟซบุ๊กที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้งานได้ทันที ซึ่งถือเป็นช่องทางการตลาดออนไลน์อีกช่องทางหนึ่งที่ทรงอิทธิพลต่อคนในยุคนี้

ณัฐพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้มีบริษัทที่ขายอุปกรณ์ทางการเกษตรด้วย เช่น ขายรถเทรคเตอร์ เป็นต้น ซึ่งบริษัทที่ขายรถเทรคเตอร์นี้ได้แบ่งปันข้อมูลว่า เพียงแค่เล่นเฟซบุ๊กเป็นก็สามารถขายข้าวถึงลูกค้าได้แล้ว ซึ่งเมื่อกลุ่มนี้เริ่มคุ้นเคยกับการซื้อ-ขายผ่านออนไลน์ ในขั้นต่อไปจะมีความต้องการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองและเริ่มติดต่อทางบริษัทเข้ามาบ้างแล้ว

นอกจากนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตรอื่นๆ ก็เริ่มต้องการมีเว็บไซต์ของตัวเองเพื่อขายสินค้า ได้แก่ เครื่องมือวิเคราะห์พันธุ์ข้าว วัสดุในการทำการเกษตร และอุปกรณ์ดูแลผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งเริ่มติดต่อเข้ามาให้สร้างเว็บไซต์ในรูปแบบอีคอมเมิร์ซด้วยเช่นกัน หลังจากมีผลงานต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ในกลุ่มธุรกิจอื่นเริ่มติดต่อเข้ามาบ้าง เช่น โรงเรียนสอนภาษา ธุรกิจท่องเที่ยว อุปกรณ์กีฬา ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงิน เป็นต้น

ดึงดูดลูกค้าด้วยดีไซน์และการตลาดออนไลน์

“สิ่งที่คิดว่ากลุ่มลูกค้าติดต่อเข้ามาจะเป็นเพราะเข้ามาในเว็บไซต์และดูผลงานตัวอย่างที่ทำให้กับลูกค้าต่างๆ จึงทำให้ลูกค้าที่ชื่นชอบในการดีไซน์เว็บไซต์ที่เน้นความเรียบ หรู มีลูกเล่นน่าสนใจติดต่อเข้ามาให้บริษัทจัดทำเว็บไซต์ ซึ่งทำให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเราที่จะมีกลุ่มลูกค้าที่เกี่ยวกับธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้าง และเกษตรเข้ามา เพราะกลุ่มนี้ต้องการให้ภาพลักษณ์ดูดีทันสมัยและเป็นมืออาชีพ”

ณัฐพงศ์ กล่าวว่า การทำการตลาดประชาสัมพันธ์ บริษัท ไอวายเอ จะเน้นใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก โดยลงโฆษณาใน Google Adwords และทำ SEO ซึ่งลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาส่วนหนึ่งจะมาจากการเห็นโฆษณาเวลาเสิร์ชบนกูเกิล และอีกส่วนคือ การบอกปากต่อปากของลูกค้าที่เคยใช้บริการกับเรา โดยภายในเว็บไซต์จะพยายามอัพเดตผลงานเพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาได้เห็นถึงประสบการณ์การพัฒนาเว็บไซต์ให้กับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจต่างๆ เพื่อเป็นการพิจารณาเบื้องต้น

ลูกค้าปัจจุบันไม่ต้องการอะไรมากนอกจากอยากให้หน้าตาเว็บไซต์สวยงามมีความน่าเชื่อถือดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้งานเว็บไซต์อย่างต่อเนื่องและมากที่สุด ดังนั้นจึงเป็นโจทย์สำคัญในการคุยและทำงานกับลูกค้าถึงความสามารถในการจะนำเทคโนโลยีทั้งระบบและการดีไซน์ตอบรับกับความต้องการของธุรกิจพวกเขาอย่างไร อีกทั้งลูกค้าที่ต้องการระบบอีคอมเมิร์ซเพิ่มเข้ามาในเว็บไซต์ ทางบริษัทจะมี Open Source ในการนำมาพัฒนาเข้ากับระบบให้สามารถซื้อ-ขายสินค้าได้แบบครบวงจร ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าว่าต้องการให้เว็บไซต์ตอบรับการทำงานได้ในระดับไหน

“ธุรกิจที่ต้องการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ของตัวเองจะหันมาทำเว็บไซต์ส่วนตัวกันมากขึ้น หลังจากที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้รู้จักแบรนด์และสินค้า ซึ่งทุกคนมองว่า การมีเว็บไซต์นอกจากจะทำให้มีพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าได้สะดวกและง่ายแล้ว สิ่งสำคัญคือ การสร้างความน่าเชื่อถือและความเป็นมืออาชีพในธุรกิจที่ตนเองทำด้วย” ณัฐพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย