การสำรวจบทความงานวิจัย รวมทั้งการดำเนินการทางด้านการจดสิทธิบัตร ชี้ชัดว่าอาเซียนกำลังไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะประเทศไทยที่เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และมีแนวโน้มการเพิ่มจำนวนของงานวิจัยและนวัตกรรมมากขึ้น
ภูมิภาคอาเซียน มีความแตกต่างที่หลากหลาย ทำให้การผลิตผลงานวิจัยมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกันไป งานวิจัยแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเจริญก้าวหน้าของนวัตกรรมเทคโนโลยี
บทความงานวิจัยอาเซียนเติบโตต่อเนื่อง มีค่าเฉลี่ยโลกสูงกว่า 1 เปอร์เซ็นต์
ดร. ซี ดิว เซ็ง ที่ปรึกษาด้านโซลูชั่น หน่วยธุรกิจทรัพย์สินทางปัญญาและวิทยาศาสตร์ ทอมสัน รอยเตอร์ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภูมิภาคอาเซียนต่างมีจำนวนผลิตผลงานวิจัยที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลก อย่างสหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพยุโรป โดยเผยรายงาน “อาเซียน – ศูนย์กลางเกิดใหม่ทางด้านการวิจัยและนวัตกรรม” จากภาพรวมและบทวิเคราะห์ของงานวิจัยในประเทศกลุ่มอาเซียน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549-2558 จำนวนบทความงานวิจัยและคุณภาพงานวิจัยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่บางประเทศเป็นการเติบโตที่รวดเร็วแบบก้าวกระโดด
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 บทความงานวิจัยที่มีคุณภาพมีค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งบทความของกลุ่มประเทศอาเซียนมีค่าเฉลี่ยที่สูงขึ้นมากกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ โดยเน้นการวิจัย 4 สาขา ด้วยกัน ที่มีผลงานโดดเด่น ได้แก่ วัสดุศาสตร์ วิศวกรรม ฟิสิกส์ และชีวะโมเลกุล
จากรายงานดังกล่าว มีการแบ่งประเทศในอาเซียนออกเป็น 4 กลุ่ม ตามจำนวนบทความวิจัยและคุณภาพ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีผลงานวิจัยสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่อยู่ในระดับดีมาอย่างต่อเนื่อง และมีการสนับสนุนในเรื่องของงานวิจัยมาตลอด โดยเน้นงานวิจัย ได้แก่ วัสดุศาสตร์ หลายสาขารวมกัน และเคมี ซึ่งพบว่ามีคุณภาพที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกมากกว่า 1 เปอร์เซ็นต์
การยื่นขอจดสิทธิบัตรไทยกับมาเลเซียมีสัดส่วนที่เท่ากัน โดยมาเลเซียจะเน้นในเรื่องของสารเคมี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แต่สำหรับประเทศไทย จะเน้นเรื่องของชิ้นส่วนยานยนต์มากกว่า
ในส่วนของกลุ่มที่ 2 ประกอบไปด้วยประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องอยู่ในระดับดี แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับบทความงานวิจัยของประเทศไทยที่ถูกนำไปอ้างอิงและได้เป็นที่ยอมรับมากที่สุด ได้แก่ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และการแพทย์คลินิก
“ประเทศไทย ขณะนี้มีการทำงานวิจัยค่อนข้างตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ เช่น งานวิจัยทางด้านการแพทย์ ที่มาจากมหาวิทยาลัยมหิดลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก และถูกนำบทความไปอ้างอิงในระดับโลก หรืองานวิจัยทางด้านเกษตร ซึ่งเลือกเดินมาถูกทาง ตรงกับเศรษฐกิจของประเทศที่มีการสนับสนุนในเรื่องของการเกษตรมากขึ้น” ดร.ซี กล่าวเสริม
สำหรับกลุ่มที่ 3 ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศเวียดนาม ที่มีแนวโน้มบทความงานวิจัยที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดแต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก และกลุ่มที่ 4 ได้แก่ ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา ประเทศเมียนมาร์ และประเทศบรูไน เป็นกลุ่มประเทศที่ไม่ค่อยมีบทความงานวิจัย จนทำให้ไม่สามารถนำมาวัดค่าได้
สิงคโปร์เป็นผู้นำงานวิจัยไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปี
“แม้ว่าจำนวนบทความงานวิจัยส่วนใหญ่จะมาจากประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย และประเทศไทย โดยคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนบทความทั้งหมดในอาเซียน แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มอาเซียนเติบโตได้นั้น เป็นเพราะประเทศสิงคโปร์ที่ความต้องการเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี โดยมีการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ จากนักวิจัยที่มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับถูกนำไปอ้างอิงจำนวนมาก” ดร.ซี อธิบาย
ทั้งนี้ สัดส่วนผลงานของประเทศไทย ทางด้านบทความงานวิจัยทั่วโลกก็มีเพิ่มขึ้น ซึ่งวัดจากฐานข้อมูล Web of Science โดยมีจำนวนบทความงานวิจัยทั้งสิ้น 7,200 บทความในปี พ.ศ. 2558 หรือคิดเป็น 0.48 เปอร์เซ็นต์ ของฐานข้อมูลทั้งหมด อย่างไรก็ตามในแง่ของการสร้างอิทธิพลต่อวงการโดยการอ้างอิงบทความวิจัยนั้น ประเทศไทยมีความใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย และมีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ฉบับที่ 213 เดือนกันยายนLife of Angel & Venture Capital เส้นทางที่ไกลกว่าเงินทุน |
นอกจากนี้ เรายังมีบุคลากรที่ได้รับการบันทึกผลงานการวิจัยถูกนำไปใช้อ้างอิงสูงสุดในปีที่ผ่านมา ซึ่ง 2 ใน 3 ท่านนั้นเป็นคนไทย ได้แก่ ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล นักวิจัยวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ และ ศ.ดร.วุฒิพล สินธุนาวารัตน์ นักวิจัยคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แสดงให้เห็นว่านักวิจัยไทยนั้นมีประสิทธิภาพ มากทีเดียว
งบงานวิจัยเน้นจดสิทธิบัตรชิ้นส่วนยานยนต์
บ๊อบ สเต็มบริดจ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายวิเคราะห์ทางด้านสิทธิบัตร หน่วยธุรกิจทรัพย์สินทางปัญญาและวิทยาศาสตร์ ทอมสัน รอยเตอร์ กล่าวว่า “การวิจัยและพัฒนา” (Research & Development) จะส่งผลต่อการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการปกป้องในเรื่องของสิทธิทางปัญหาเป็นสิ่งสำคัญที่จะชี้วัดให้เห็นถึงความก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศได้
ส่วนผลงานวิจัยที่สามารถยื่นจดสิทธิบัตรได้นั้น ต้องมีความใหม่และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง เมื่อยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว งานวิจัยทุกชิ้นจะเข้าสู่กระบวนการ License (ไลเซน) ทรัพย์สินทางปัญญาตกเป็นของมหาวิทยาลัย โดยผู้วิจัยเป็นนักประดิษฐ์
ขณะที่การเติบโตของไทยกับมาเลเซียมีสัดส่วนที่เท่ากัน โดยมาเลเซียจะเน้นในเรื่องของสารเคมี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แต่สำหรับประเทศไทยการยื่นขอจดสิทธิบัตรจะมีความแตกต่างจากประเทศอื่น โดยจะเน้นเรื่องของชิ้นส่วนยานยนต์มากกว่า ตามความต้องการของตลาด
เมื่อดูการเติบโตของประเทศจีนที่มีบทความงานวิจัยสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกนั้น เกิดจากนโยบายของสถาบันการศึกษาจีน ในการผลักดันการตีพิมพ์บทความในวารสารชั้นนำของโลกที่มีเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 นอกจากนี้ บรรดานักวิจัยชาวจีนที่เดินทางจากต่างประเทศกลับบ้านเกิด ก็มีส่วนในการเพิ่มจำนวนการตีพิมพ์บทความ อีกทั้งจีนทุ่มทุนราว 7 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 2.1 เปอร์เซ็นต์ของตัวเลขจีดีพี ไปกับการพัฒนาการวิจัยในปี พ.ศ. 2558 โดยมีนักวิจัยซึ่งทำงานเต็มเวลามากถึง 3.7 ล้านคน
หากดูจากตารางอันดับสถาบันการศึกษาที่มีพัฒนาการด้านการวิจัยมากที่สุดจำนวน 100 แห่ง ซึ่งสถาบันจากแดนมังกรติดอันดับมากถึง 40 แห่ง โดยมีมหาวิทยาลัยปักกิ่งนำมาเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อนำมาเปรียบเทียบในภาพรวมของ สหรัฐฯ ที่ยังคงครองอันดับประเทศที่มีบทความตีพิมพ์ในวารสารจำนวนมาก แม้ว่าการขยายตัวด้านงานวิจัยจะเทียบกับจีนไม่ได้ก็ตาม โดยมีสถาบันการศึกษาของสหรัฐฯ ที่ติดอันดับเพียง 11 แห่งเท่านั้น
หนุนนักวิจัยจดสิทธิบัตร เพื่อประโยชน์ต่อตนเองและประเทศ
การจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญากำลังเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และจะเป็นเรื่องน่ายินดี หากนักวิจัยไทยจะจดสิทธิบัตรคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเอง ดังนั้น สิทธิบัตรจึงมีส่วนช่วยให้การดำรงชีวิตของมนุษย์มีความสะดวกสบายและมีความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยในการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาพและอนามัยของประชาชน และการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ยังจะทำให้ประชาชนได้รับแต่สิ่งที่ดี มีคุณภาพสูง และมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นด้วย
ขณะเดียวกันในส่วนของเจ้าของสิทธิบัตรและผู้ประดิษฐ์เองก็จะได้รับผลตอบแทนจากสังคมเช่นกัน โดยได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตร สามารถนำการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรนั้นไปผลิต จำหน่าย นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรืออนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรนั้นโดยได้รับค่าตอบแทน ขณะที่เหตุผลอีกประการในการคุ้มครองสิทธิบัตรคือ เพื่อจูงใจให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งจัดระบบในการคุ้มครองด้านสิทธิบัตรทำให้เจ้าของเทคโนโลยีจากต่างประเทศมีความมั่นใจในการลงทุน