คนไทยใช้ e-Payment มากขึ้น

จากการทำโครงการ National E-Payment อย่างจริงจังของภาครัฐในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนไทยมั่นใจในระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Payment มากขึ้น โดยผลสำรวจทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภค ประจำปี 2559 จากวีซ่า ที่เจาะลึกถึงทัศนคติของผู้บริโภคปัจจุบันเกี่ยวกับการชำระเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคจากหกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พบว่า “วันนี้คนไทยถึง 73% เลือกใช้บริการชำระเงิน E-Payment” ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินผ่านบัตร อุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ อย่างสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สวมใส่ แสดงให้เห็นถึงการเลี่ยงการใช้เศษเหรียญและธนบัตร ด้วยเหตุผลเพราะการพกเงินสดไม่ปลอดภัย และไม่สะดวกพกไว้กับตัว ซึ่งแม้ว่าตัวเลขการใช้เงินสดจะยังคงสูงอยู่ และยังคงเป็นช่องทางการชำระเงินหลัก 71% แต่การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์กำลังไต่อันดับตามขึ้นมา
แนวโน้มว่า คนไทยยอมรับรูปแบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง มีการใช้จ่ายผ่าน e-Payment มากถึง 83%

คนนิยมสั่งอาหารออนไลน์ผ่านช่องทางออนดีมานด์

สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย บอกว่า นวัตกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาทดลองชำระเงินด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยผู้บริโภคไทย 67 % เลือกการชำระเงินแบบอัตโนมัติ เพื่อลดขั้นตอนการทำธุรกรรมทั้งหมด ด้วยการเติบโตของระบบเศรษฐกิจออนดีมานด์ (on-demand) ที่ผู้บริโภคต่างมองหาช่องทางชำระเงินที่รวดเร็ว สะดวก และปลอดภัย ไม่ต้องแสดงบัตรในการชำระเงิน โดยเฉพาะพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในการใช้แอพพลิเคชั่นสำหรับการจัดส่งอาหารออนไลน์ที่มีผู้ใช้มากถึง 75% รวมไปถึงแอพการเดินทาง-ท่องเที่ยว  การส่งของอุปโภคบริโภค และการขนส่ง ที่มีอัตราการเติบโตของผู้ใช้มากขึ้น  และยังพบว่าผู้บริโภค 82% พร้อมเลือกชำระเงินแบบไร้สัมผัสมากกว่าเงินสดถ้าร้านค้าแนะนำให้ใช้

สุริพงษ์ กล่าวต่อว่า จากการที่วีซ่าได้ร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ในการรับชำระผ่านบัตรวีซ่า ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้ โดยพบว่ามีวงเงินการใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยปัจจุบันมีการติดตั้งเครื่องรับบัตรอยู่ 5,000 แห่ง และคาดว่าปลายปีนี้จะครบ 10,000 แห่ง นอกจากนี้วีซ่ายังเตรียมเปิดตัวบริการ mVisa ในประเทศไทย หลังจากที่เปิดให้บริการแล้วในประเทศอินเดีย ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะเริ่มเห็นธนาคารนำระบบดังกล่าวไปใช้

 

ขยายจุดรับ e-Wallet กระตุ้นการใช้งานมากขึ้น

ด้านฝากผู้ให้บริการ E-Payment อย่าง True money พบว่าการโอนเงินระหว่างกระเป๋าเงินได้รับความนิยมสูงที่สุด ตามมาด้วย WeCard บัตรเครดิตเสมือน ที่นำไปใช้จ่ายแทนบัตรเครดิต และการใช้งานในร้านค้าสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่น  (7-11)

ล่าสุดมีจุดรับชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Wallet ของ True money และ Alipay ถึง 12,000 จุด โดยเป็นร้านสะดวกซื้อ 7-11 ประมาณ 10,000 จุด และที่เหลือเป็นร้านค้ารายย่อยอื่นๆ ก็มองว่า จุดให้บริการที่มียังไม่เพียงพอต่อการใช้งานและการกระตุ้นพฤติกรรมผู้บริโภค จึงได้มีการแต่งตั้งตัวแทนผู้จัดหาเครือข่ายการชำระเงินอย่างเป็นทางการ เพื่อขยายจุดรับชำระให้ได้ 100,000 จุดภายในปีนี้

โดย สราญรัตน์ ศรีจิรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด บอกว่า การขยายจุดรับชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ของ True money และ Alipay จะดำเนินการไปพร้อมกัน โดยเน้นไปที่ร้านค้าที่มีชาวจีนใช้งาน เพื่อเปิดโอกาสให้กับร้านค้าได้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดตลาดชาวไทยให้หันมาใช้งาน e-Wallet เพิ่มขึ้นด้วย

 

6 บริษัทตัวแทนหาผู้รับชำระเงินให้กับ True money และ Alipay

บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด มีพันธมิตรทางธุรกิจรายใหญ่ๆ มากกว่า 10 องค์กร ขยายตัวไปยังลูกค้ากว่า 7 ประเทศ

บริษัท ฮวนยูจิ จำกัด startup ให้บริการจัดหาที่พัก จัดหาร้านอาหาร ในประเทศไทย สิงคโปร์ เกาหลี และฮ่องกง

บริษัท จีมู่ อินเตอร์เน็ต เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด startup ที่รวบรวมข้อมูลร้านค้า 3 ประเภท คือ ร้านอาหาร, ร้านขายของ และร้านให้บริการ ในเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของคนจีน

บริษัท เพย์วิง (ประเทศไทย) จำกัด ให้บริการจองโรงแรม ที่พัก และการเดินทางในหลายประเทศให้กับคนจีน

บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เน้นบริการ TrueYou จัดหาร้านค้าใหม่ๆ มาร่วมรับชำระเงิน

บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด เว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นแนะนำร้านอาหาร ร้านเสริมสวย และสปา มีฐานข้อมูลกว่า 200,000 ร้าน