จับมือแท็กซี่ร่วมให้บริการ Ride Sharing

ปัจจุบันประเทศไทยมีแท็กซี่ในระบบประมาณ 8.6 หมื่นคัน แต่ส่วนใหญ่ต้องขับรถวนหาลูกค้า หรือกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เดียวกันทำให้เสียโอกาสในการหาลูกค้า ขณะที่ UBER ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีร่วมเดินทาง ได้เปิดโอกาสให้แท็กซี่เข้ามามีส่วนร่วมให้บริการบน uberFLASH เป็นส่วนหนึ่งของบริการ Ride Sharing ในช่วงที่ผ่านมา

ล่าสุด UBER เปิดให้บริการ uberTAXI ในไทย เป็นประเทศที่ 7 ในเอเชีย โดยร่วมกับ บริษัท โฮวา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือที่รู้จักกันในชื่อ “แท็กซี่สุวรรณภูมิ” เพื่อให้บริการเรียกรถแท็กซี่อย่างถูกกฎหมาย ในลักษณะเดียวกับบริการอื่นๆ ของ UBER เพียงแต่รถที่ให้บริการจะเป็นแท็กซี่ป้ายเหลืองโดยเฉพาะนั่นเอง

uberTAXI เป็นบริการล่าสุดต่อจาก uberFLASH , uberX , uberMOTO , uberBLACK , uberSUV และ uberASSIST สำหรับผู้โดยสารที่กำลังสับสนว่าแต่ละบริการแตกต่างกันอย่างไร หรือควรจะเลือกใช้บริการไหนดี ลองมาดูตารางเปรียบเทียบความแตกต่างของทั้ง 7 บริการกัน

ทั้งนี้ ค่าบริการ uberTAXI จะคำนวณจากระยะทางและระยะเวลาในการเดินทางจริง เหมือนกับมิเตอร์แท็กซี่ทั่วไป บวกกับอัตราค่าบริการของแอปฯ ผู้โดยสารสามารถจ่ายตามราคาที่ปรากฏบนแอปฯ ที่แสดงค่าใช้จ่ายโดยประมาณให้ตั้งแต่ก่อนกดเรียกรถ และสามารถเลือกการชำระเงินได้ทั้งเงินสดหรือบัตรเครดิต

ศิริภา จึงสวัสดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย UBER บอกว่า อูเบอร์ ต้องการที่จะขยายเครือข่าย Ride Sharing ให้สามารถเข้าถึงและเอื้อประโยชน์ต่อทุกคนในระบบนิเวศด้านบริการการเดินทาง รวมถึงพยายามร่วมมือกับภาครัฐและทุกภาคส่วน สำหรับบริการ uberTAXI ในประเทศไทย เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อเมือง พาร์ตเนอร์ร่วมขับ รวมถึงผู้ใช้ ทั้งในด้านความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการที่ UBER ได้ร่วมกับ HOWA ซึ่งมีแท็กซี่ที่ให้บริการกว่า 4,000 คัน จะช่วยสร้างเครือข่ายเทคโนโลยีร่วมเดินทาง ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ขับแท็กซี่ทั่วไปสามารถเข้ามาสมัครเป็นพาร์ตเนอร์ ของ UBER ได้ด้วย