ความจริง ที่ไม่สำคัญ: ยุคของหัวข้อข่าวแบบ Post-truth

ทรัมป์ โพสต์ถึงความสำเร็จในการดึงโรงงานผลิตรถนยต์ฟอร์ดที่ผลิตรถ รุ่นลิงคอร์นให้อยู่ที่เมืองหลุยส์วิลล์ มลรัฐเคนตั๊กกี้

ทรัมป์ โพสต์ถึงความสำเร็จในการดึงโรงงานผลิตรถนยต์ฟอร์ดที่ผลิตรถ
รุ่นลิงคอร์นให้อยู่ที่เมืองหลุยส์วิลล์ มลรัฐเคนตั๊กกี้

ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะนำเสนอเรื่องของรถอัจฉริยะต่อจากบทความก่อน ปกติแล้วผมจะเขียนบทความที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นหลักและจะหลีกเลี่ยงเรื่องเชิงสังคม แม้จะเป็นสังคมออนไลน์ที่เป็นผลพวงของเทคโนโลยีก็ตาม  แต่มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ทำให้ผมเปลี่ยนใจนำเสนอเรื่องของการรับข่าวสารในโลกอินเทอร์เน็ตแทน หนึ่งในเหตุการณ์นั้นก็คือ     การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ที่สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั่วโลก เนื่องจากโดนัลทรัมป์สามารถเอาชนะฮิลลารีคลินตันไปได้อย่างพลิกความคาดหมายของสื่อ และสำนักโพลหลักของอเมริกา

ระบบ IT กับการเลือกตั้ง
ผู้อ่านที่ติดตามบทความของผมมานานตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนิตยสาร E-commerce อาจจะจำได้ว่าผมเคยนำเสนอเทคโนโลยีที่ใช้ช่วยในการหาเสียงเลือกตั้งของโอบามากับรอมนีย์ในการเลือกตั้งครั้งก่อนมาแล้ว และได้อธิบายถึงความสำเร็จของทีม IT ของโอบามาที่ช่วยให้การระดมฐานเสียงให้ออกไปเลือกตั้งทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงความล้มเหลวของทีมรอมนีย์ ที่ทำให้อาสาสมัครที่มาช่วยงานไม่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ (บทความทั้งสองตีพิมพ์ช่วงต้นปีพ.ศ. 2556) ในการเลือกตั้งครั้งนี้นางฮิลลารีคลินตันที่อยู่พรรคเดียวกับโอบามาก็ให้ความสำคัญกับ Big Data และได้จ้างทีมที่เคยช่วยให้โอบามาชนะการเลือกตั้งมาช่วยวิเคราะห์และกำหนดแนวทางการหาเสียงอีกครั้งตั้งแต่ต้น ในขณะที่โดนัลทรัมป์นั้นไม่ค่อยให้ความสำคัญกับข้อมูลมากนัก และเพิ่งจะจ้างทีมข้อมูลเข้ามาทำงานหลังจากได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในการเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเท่านั้น ก่อนการเลือกตั้งหนึ่งสัปดาห์ทีมข้อมูลของคลินตัน รวมถึงสำนักโพลส่วนมากคาดการณ์ว่า โอกาสที่คลินตันจะชนะการเลือกตั้งนั้นสูงถึง 80% เลยทีเดียว

ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า ทรัมป์ชนะคะแนนเสียงอิเล็กโทรัลโหวตและจะได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา ในขณะที่คลินตันชนะป๊อปปูล่าโหวตไปอย่างฉิวเฉียดแค่นั้น (สำหรับท่านที่ไม่ทราบระบบการเลือกตั้งของอเมริกา คะแนนป๊อปปูล่าโหวตคือคะแนนเสียงรวมของประชาชนทั่วประเทศ ส่วนอิเล็กโทรัลโหวตคือคะแนนที่ได้มาจากการชนะในแต่ละมลรัฐ คะแนนที่ใช้ตัดสินคือ อิเล็กโทรัล โหวต เนื่องจากเป็นการป้องกันไม่ให้รัฐที่มีประชากรเยอะได้เปรียบมากเกินไป คะแนนป๊อปปูล่าโหวตไม่มีความหมายในการเลือกตั้ง)

2

ผมเขียนบทความนี้ก็เพื่อให้ผู้อ่านรับทราบและรู้ทันเทคนิคเล่ห์กลของผู้นำเสนอ และหวังว่าเมื่อเจอข่าวแบบ Post-Truth ในโซเชียลมีเดียผู้อ่านก็จะฉุกคิดสักนิด มีสติสักหน่อย ไม่รีบตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่แชร์ถ้าไม่ชัวร์

ความสามารถของทรัมป์
ชัยชนะของทรัมป์แบบหักปากกาเซียนนั้นส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการประมวลข้อมูลแบบ Big Data พอสมควร บางกลุ่มก็ตั้งข้อสงสัยในการประมวลผลข้อมูลแบบ Predictive Analytics ซึ่งเป็นการวิเคราะห์คาดการณ์ล่วงหน้าด้วยข้อมูลที่มีอยู่ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ผิดคาด ทางฝ่าย Big Data ก็โต้แย้งว่า ภาพรวมยังตรงตามที่คาดการณ์ไว้ (เนื่องจากคลินตันชนะป๊อปปูล่าโหวต) แต่รายละเอียดการกระจายตัวของคะแนนและการออกมาลงคะแนนต่างหากที่ไม่เป็นไปตามคาด

อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญอีกประเด็นที่ควรพิจารณาก็คือ โดนัลทรัมป์ นั้นมีความสามารถในการใช้โซเชียลมีเดียที่เก่งมาก บัญชี Twitter ของทรัมป์มีผู้ติดตามถึง 14 ล้านคน (ก่อนได้รับเลือก) ในขณะที่คลินตันมีประมาณ 11 ล้านคน นอกจากนี้ ทรัมป์ ยังมีประสบการณ์ในวงการโทรทัศน์ผ่านรายการโชว์ เช่น The Apprentice ด้วย และด้วยลักษณะนิสัยของทรัมป์ที่พูดจาตรงๆ ใช้ภาษาง่ายๆ และกล้าพูดในลักษณะที่หลายคนมองว่าขวานผ่าซากชวนทะเลาะ แต่ถูกใจคน ซึ่งต่างจากคลินตันที่เป็นนักการเมืองที่ใช้ภาษาสละสลวยและเก็บงำความรู้สึก ทำให้คนเข้าใจยากเข้าถึงยากกว่า ความสามารถตรงนี้ของทรัมป์ทำให้เขามีคะแนนเสียงสูงพอที่จะสู้กับ คลินตันได้

ฉบับที่ 216 เดือนธันวาคม

ใช้ App ช่วยสังคม ลดช่องว่างคนที่ลำบาก

ความกล้าพูดและความเข้าใจดูจะเป็นที่สนใจของผู้ฟังผู้อ่านทำให้เขาไม่ลังเลที่จะพูดหรือโพสต์ข้อความที่ถูกใจผู้ฟังถึงแม้ว่าข้อความนั้นจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปหรือไม่ใช่ความจริงทั้งหมด ตัวอย่างล่าสุดก็คือ ทรัมป์โพสต์ในทวิตเตอร์ว่าเขาประสบความสำเร็จในการดึงโรงงานผลิตรถยนต์ฟอร์ดที่ผลิตรถรุ่นลิงคอร์นให้อยู่ที่เมืองหลุยส์วิลล์ มลรัฐเคนตั๊กกี้ โดยไม่ย้ายไปเม็กซิโก และยังกล่าวว่านี่เป็นสิ่งตอบแทนให้คนในมลรัฐนี้ที่มั่นใจในตัวเขา (ทรัมป์ชนะที่มลรัฐนี้) ข้อความนี้แน่นอนว่า เป็นที่ถูกใจคนที่สนับสนุนทรัมป์และชาวเคนตั๊กกี้ทั่วไป แต่คนในเมืองหลุยส์วิลล์รู้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้วว่าโรงงานนี้ไม่ได้ย้ายไปไหน ฟอร์ดวางแผนจะย้ายการผลิตรถรุ่นลิงคอร์นไปที่อื่นเท่านั้น แต่จะยังผลิตรถรุ่นอื่นที่โรงงานนี้และจะไม่มีผล  กระทบต่อการจ้างแรงงานในโรงงานด้วย

ทางวงการวิชาการด้านสื่อนั้นได้ให้นิยามของการนำเสนอข้อมูลแบบเน้นไปที่อารมณ์ความรู้สึกเป็นหลัก

ทางวงการวิชาการด้านสื่อนั้นได้ให้นิยามของการนำเสนอข้อมูลแบบเน้นไปที่อารมณ์ความรู้สึกเป็นหลัก

Post-Truth
สิ่งที่ทรัมป์โพสต์นั้น มีข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งว่า ฟอร์ดจะไม่ย้ายการผลิตรถรุ่นลิงคอร์นไปที่อื่นแล้ว แต่ข้อเท็จจริงอีกส่วนที่ทรัมป์ไม่ได้กล่าวก็คือว่า ไม่มีแผนที่จะย้ายโรงงานตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ทรัมป์โพสต์ความจริงที่คลาดเคลื่อนนี้ลงทวิตเตอร์เพราะเขารู้ดีว่าเป็นเรื่องที่คนทั่วไป (ที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด) จะมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมด้านบวกกับข้อความนี้ นั่นคือทรัมป์เลือกที่จะนำเสนอในลักษณะที่ดึงดูดใจคนรับสารมากกว่าการที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมด การนำเสนอในลักษณะนี้พบเห็นได้ในรายการโทรทัศน์แบบกึ่งเรียลลิตี้หรือแบบเกมโชว์ที่ใช้การตัดต่อความจริงบางส่วนในหลายๆ สถานการณ์มาเชื่อมโยงกัน เพื่อชี้นำให้ผู้ชมมีความรู้สึกเชิงดราม่า เช่น ตัดต่อให้เหมือนว่าผู้ร่วมรายการ A ทำสีหน้าไม่พอใจหลังจากที่ผู้ร่วมรายการ B พูดต่อว่า A แต่ในความเป็นจริงแล้ว A อาจไม่พอใจเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับที่ B เลยก็ได้ นั่นคือ A มีสีหน้าไม่พอใจจริง และ B พูดต่อว่า A จริง แต่เป็นเหตุการณ์สองเหตุการณ์ไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่ตัดต่อมาให้ผู้ชมคิดว่า A ไม่พอใจ B

ทางวงการวิชาการด้านสื่อนั้นได้ให้นิยามของการนำเสนอข้อมูลแบบเน้นไปที่อารมณ์ความรู้สึกเป็นหลักและข้อเท็จจริงเป็นรองในลักษณะนี้ว่า Post-Truth เพราะสิ่งที่นำเสนอนั้นไม่จำเป็นต้องถูกต้องในทุกรายละเอียดหรืออาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง ข้อมูลในลักษณะนี้มักจะไม่ใช่เรื่องโกหกนะครับ เพียงแต่จะหยิบบางส่วนของข้อเท็จจริงมาขยายความให้เหมือนกับเป็นความจริงทั้งหมด แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับลักษณะวิธีในการนำเสนอที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของผู้รับสาร สรุปง่ายๆ ว่าเป็นการนำเสนอแบบเน้นดราม่า จริงเท็จอย่างไรเป็นเรื่องรอง

ทรัมป์ ชนะคะแนนเสียงที่มลรัฐเคนตั๊กกี้

ทรัมป์ ชนะคะแนนเสียงที่มลรัฐเคนตั๊กกี้

การใช้หัวข้อข่าวแบบ Post-Truth เป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ และส่งผลกระทบต่อความเชื่อของฝูงชนในเรื่องระดับชาตินี้ ทำให้ดิกชันนารีอ๊อกซ์ฟอร์ด เลือกคำว่า Post-Truth เป็นคำแห่งปี 2016

ความเป็นมาของการนำเสนอแบบ Post-Truth
ในอินเทอร์เน็ตนั้น จุดเริ่มต้นของการนำเสนอข้อมูลแบบกระตุกอารมณ์ของผู้อ่านน่าจะเริ่มมาจากสิ่งที่เรียกว่า Click-Bait ซึ่งเป็นการนำเสนอหัวข้อข่าวแบบให้รายละเอียดแค่นิดเดียว โดยอาจใช้ภาพที่ดูน่าสนใจเข้ามาประกอบ และมักจะมีข้อความที่ทำให้ผู้อ่านสงสัยอยากรู้จนคลิ๊กเข้าไปอ่านเพิ่มเติม เช่น “คนจรจัดเดินเข้าไปในร้านอาหาร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปจะทำให้คุณตะลึง” หรือ “เมื่อทดลองอุ่นน้ำด้วยเตาไมโครเวฟ สิ่งที่เราค้นพบจะทำให้คุณตกใจ” ผมคิดว่าผู้อ่านหลายท่านคงเคยเห็นการพาดหัวข่าวแบบนี้มาบ้าง ซึ่งแตกต่างจากการเขียนหัวข้อข่าวทั่วไปที่จะพยายามสรุปเนื้อหาให้กระชับที่สุด หัวข้อข่าวแบบ Click-Bait จะพยายามชี้นำความรู้สึกของผู้อ่านด้วย นั่นคือจะบอกไว้ก่อนเลยว่าคุณจะตกใจ คุณจะซาบซึ้ง คุณจะตื่นตะลึง เมื่อผู้อ่านทนต่อความอยากรู้อยากเห็นไม่ไหวจนคลิ๊กเข้าไปอ่านก็จะสมความตั้งใจของพวก Click-Bait เหล่านี้ซึ่งทำรายได้จากโฆษณาในหน้าเว็บฯ นั้น ถึงแม้ข่าวในเว็บฯ พวก Click-Bait จะคลาดเคลื่อนหรือไม่ตรงกับความเป็นจริงทั้งหมดแต่ผู้อ่านบางกลุ่มก็มักจะชอบอ่านและส่งต่อข่าวแบบนี้ เนื่องจากเมื่อคลิ๊กเข้าไปอ่านแล้วทำให้เราได้รู้เฉลยของหัวข้อข่าว ถึงแม้อาจเป็นเรื่องขำขันหรือไร้สาระ แต่การที่เราได้รู้หลังจากมีข้อสงสัยก็ยังทำให้เรารู้สึกพึงพอใจได้ และถึงแม้เนื้อหาข่าวจะไม่สามารถแน่ใจได้ว่าจริงทั้งหมด แต่เนื่องจากผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมไปแล้วข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็จะเป็นเรื่องรองไป

ในทางการเมืองนั้นการสร้างอารมณ์ร่วมให้ฝูงชนก็เป็นแนวทางหนึ่งในการเรียกคะแนนเสียงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาหรือการลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ก็มีการแชร์ข้อความในลักษณะของ Post-Truth ในโซเชียลมีเดีย เช่น กลุ่มที่ต้องการให้สหราชอาณาจักรแยกตัว (Leave) ได้นำเสนอข้อมูลว่า สหราชอาณาจักรส่งเงินให้สหภาพยุโรป 350 ล้านปอนด์ต่อสัปดาห์ ซึ่งคนที่ได้ยินได้ฟังคงตกใจมากว่า ทำไมค่าสมาชิกถึงแพงขนาดนี้ ตัวเลขนี้คือค่าสมาชิกจริง แต่สหราชอาณาจักรจะได้เงินคืนส่วนหนึ่ง (เป็นผลจากการต่อรองของแธทเชอร์ตอนเข้าร่วม) และยังมีเงินที่สหภาพยุโรปจ่ายเพื่อการพัฒนาสหราชอาณาจักรด้วย เมื่อหักลบกันแล้วเงินที่สหราชอาณาจักร ”เสีย” ให้สหภาพยุโรปนำไปพัฒนาประเทศอื่นจะอยู่ที่ 162 ล้านปอนด์ต่อสัปดาห์ ไม่ถึงครึ่งของตัวเลขที่นำเสนอ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ฝ่าย Leave ต้องการคงไม่ใช่ว่าเงินที่จ่ายจะเป็น 350 หรือ 162 ล้านปอนด์ต่อสัปดาห์ แต่น่าจะเป็นการสร้างความรู้สึกว่าการอยู่กับสหภาพยุโรปเป็นภาระของชาวสหราชอาณาจักรมากกว่า

5

การใช้หัวข้อข่าวแบบ Post-Truth เป็นวงกว้างในโลกออนไลน์และส่งผลกระทบต่อความเชื่อของฝูงชนในเรื่องระดับชาตินี้ ทำให้ดิกชันนารีอ๊อกซ์ฟอร์ด เลือกคำว่า Post-Truth เป็นคำแห่งปี 2016

จะทำอย่างไรกับข่าวแบบ Post-Truth
ถ้าผู้อ่านหยุดคิดสักนิดก็จะระบุได้ไม่ยากว่า หัวข้อข่าวที่อ่านนั้นเป็นแบบ Post-Truth หรือไม่ แน่นอนว่าผู้อ่านไม่ควรเชื่อไม่ควรแชร์ข่าวแบบ Post-Truth แต่ประเด็นคือ ผู้อ่านจะรู้ตัวหรือเปล่าว่ากำลังอ่านข่าวแบบ Post-Truth อยู่ เพราะข่าวลักษณะนี้พยายามสร้างอารมณ์แก่ผู้อ่าน และเมื่อคนเราอยู่ภายใต้อิทธิพลของอารมณ์แล้วก็มักจะไม่ใช้หลักเหตุผลในการคิดตัดสินใจ ที่ผมเขียนบทความนี้ก็เพื่อให้ผู้อ่านรับทราบและรู้ทันเทคนิคเล่ห์กลของผู้นำเสนอ และหวังว่าเมื่อเจอข่าวแบบ Post-Truth ในโซเชียลมีเดียผู้อ่านก็จะฉุกคิดสักนิด มีสติสักหน่อย ไม่รีบตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่แชร์ถ้าไม่ชัวร์ จะได้ไม่กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนที่ต้องการสร้างกระแสอารมณ์ความรู้สึกในฝูงชนครับ

อ้างอิง
Erin Keane, “From truthiness to post-truth, just in time for Donald Trump: Oxford Dictionaries’ word of the year should scare the hell out of you”, Salon.com, Nov 20, 2016.
– , “The post-truth world”, The Economist, Sep 10, 2016.
Jon Henley, “Why Vote Leave’s £350m weekly EU cost claim is wrong “, The Guardian, Jun 10, 2016.
-, “Word of the Year 2016 is…”, Oxford Dictionaries, retrieved from https://en.oxforddictionaries.com/word-
of-the-year/word-of-the-year-2016

[efspanel style=”” type=””]
[efspanel-header]
Contributor
[/efspanel-header]
[efspanel-content]
sethavidh

ดร.เสฎฐวิทย์ เกิดผล

จบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเซาท์เธิร์นแคลิฟอร์เนียในปี 2548 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกเหนือจากการสอนแล้ว ยังได้ร่วมมือกับภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจสร้างและออกแบบระบบสารสนเทศ จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการใช้งานโปรแกรมรหัสเปิด (Open Source Software) โดยเน้นที่โปรแกรมระบบสำหรับบริษัทและธุรกิจเป็นหลัก

Twitter: twitter.com/Sethavidh

Website: Sethavidh@gmail.com

[/efspanel-content]
[/efspanel]