การทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือสะดวกรวดเร็วขึ้น ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตในสังคมดิจิทัล แต่ในขณะเดียวกันองค์กรสำคัญอย่างธนาคารก็ต้องปรับตัวให้ทันด้วยเช่นกัน
ภาครัฐตื่นตัวและต้องการผลักดันการทำ Digital e-Payment ให้เกิดขึ้นได้จริงด้วยโครงการในนโยบาย ดิจิทัลอีโคโนมี ทางธนาคารที่เป็นองค์กรหลักจึงต้องมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี และสามารถรองรับความต้องการของประชาชนให้ได้ด้วย
ผู้ใช้บริการเปิดรับเทคโนโลยี พร้อมก้าวเข้าสู่ยุคการเงินแบบดิจิทัล
จากข้อมูลของธนาคารกสิกรไทยพบว่า รายการที่ทำผ่านช่องทางดิจิทัล แบงกิ้ง ของธนาคารเติบโตอย่างก้าวกระโดด จาก 168 ล้านรายการในปี 2554 เป็น 1,135 ล้านรายการในปี 2558 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 7,900 ล้านรายการใน 5 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่เห็นได้ชัดคือ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีหมายเลขมือถือกว่า 80 ล้านเลขหมาย ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากร และใน 80 กว่าล้านเลขหมายนี้เป็นมือถือแบบ Data Function ประมาณ 30 ล้านเลขหมาย แสดงให้เห็นว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตง่ายขึ้นและมีผลกับการดำเนินชีวิตอย่างมาก
บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว อะไรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจะอยู่ในฐานของเทคโนโลยีที่กำลังใช้กันอยู่ และนับวันก็จะเร็วกว้างขวางไปมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชีวิตทางการเงินและอื่นๆ ที่รวมกันเป็นระบบเศรษฐกิจจะต้องมีวิธีการที่แตกต่าง อย่างนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เป็น e-Platform, e-Payment ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี และเป็นสิ่งท้าทายที่รัฐกับเอกชนจะได้ร่วมมือกันในการหาทางออกเพื่อสร้างโลกอนาคตให้เกิดขึ้นได้จริง
“ที่ผ่านมาทางกระทรวงการคลัง มีแผนว่าต้องดันประเทศไทยให้ไปสู่โลกธุรกรรมทางการเงินแบบดิจิทัลทุกด้าน หนีจากธนบัตรกับเหรียญให้มากที่สุด เพื่อความมีประสิทธิภาพและคุณภาพมากขึ้นต่อชีวิตโดยรวมของทุกคนและของเศรษฐกิจของประเทศด้วย นี่คือโจทย์ที่ทุกธุรกิจต้องเผชิญ หารูปแบบใหม่ ฐานใหม่ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าพูดง่ายแต่ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ เพราะมันเป็นความเคยชินที่เราใช้กันมาทั้งชีวิต ซึ่งตรงนี้ต้องมีการสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจให้กับทุกฝ่ายก่อนว่าประโยชน์ของมันเป็นอย่างไร”
![]() |
ฉบับที่ 209 เดือนพฤษภาคมDigital Literacy เรื่องครอบครัว รู้ทันดิจิทัล |
ผู้นำด้านดิจิทัล แบงกิ้ง เตรียมนวัตกรรมรองรับนโยบายรัฐ
ธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้นำดิจิทัล แบงกิ้ง ที่มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 38 เปอร์เซ็นต์ พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ด้วยการตั้งบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KASIKORN Business-Technology Group หรือ KBTG) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานและบริการด้านไอที และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการเงินในตลาดโลก
ธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป กล่าวว่า KBTG จะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนธนาคารกสิกรไทยสู่การเป็นดิจิทัล แบงกิ้ง อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงความพร้อมในการทำงานร่วมกับ Tech Startup กล่าวคือ สามารถเป็นได้ทั้งพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) ผู้ร่วมลงทุน (Investor) หรือแม้แต่เป็นลูกค้า (Customer) และพร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่อง e-Payment Master Plan โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาประยุกต์ในชีวิตประจำวันของคนไทยอย่างครบวงจร
“อย่างนโยบาย Digital e-Payment ของทางภาครัฐที่เป็นโลกใหม่ทางการเงิน ทางเราเองก็พร้อมสนับสนุนด้วยการค้นหาใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาด เพื่อให้ประชาชนจะได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว สามารถลดต้นทุนจากการพกพาเงินสดและหันมาใช้การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีค่าบริการที่ถูกกว่า ส่วนทางผู้ประกอบการร้านค้าเองก็สามารถลดต้นทุนในส่วนใบกำกับภาษีเอกสารต่างๆ ลงได้ เราก็ต้องการจะทำตรงนี้เพื่อเสริมให้คนไทยได้ใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ” ธีรนันท์ กล่าว
ตอนที่ FinTech เริ่มเข้ามามีบทบาทในหลายปีที่แล้วต้องการที่จะมาแข่งขันกับแบงค์ แต่ตอนนี้เราอยู่ในยุคของ FinTech 2.0 ที่เข้ามาจับมือร่วมกันกับธนาคารและสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น
ความร่วมมือระหว่างธนาคารและ FinTech เพื่อพัฒนาโลกอนาคตให้เกิดขึ้นจริง
ในตอนนี้โจทย์ทางธุรกิจในด้านเทคโนโลยีการเงินมีการเปลี่ยนแปลงไป ความคิดที่จะแข่งกับ FinTech เป็นความคิดที่ล้าสมัย ในตอนที่ FinTech เริ่มเข้ามามีบทบาทในหลายปีที่แล้วต้องการที่จะมาแข่งขันกับแบงค์ แต่ตอนนี้เราอยู่ในยุคของ FinTech 2.0 ที่เข้ามาจับมือร่วมกันกับธนาคารและสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น เนื่องจากทาง FinTech เองมีข้อดีหลายอย่าง อาทิ อินโนเวทีฟไอเดีย เทคโนโลยีที่น่าสนใจ การมองตลาด แต่ก็ยังขาดในส่วนของประสบการณ์และฐานลูกค้า และเทคโนโลยีหลายๆ อย่าง ซึ่งตรงนี้เป็นจุดแข็งของธนาคารที่นำเข้ามาร่วมกันได้
“เราจะทำให้ธนาคารและ FinTech เดินไปด้วยกัน ไม่ได้มาแข่งกันเพื่อให้ใครสักคนชนะและอีกคนกลายเป็นคนแพ้ เพราะมีความเชื่อว่า การเดินไปด้วยกันจะทำให้โอกาสในความสำเร็จของ FinTech นั้นเพิ่มขึ้นสูงมาก และนั่นเป็นความตั้งใจของเรา ที่จะช่วยทำให้ FinTech ประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาคิดและฝันไว้ ซึ่งตรงนี้ก็นำมาประยุกต์ใช้กับธนาคาร เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้งานอย่างสูงที่สุด” ธีรนันท์ กล่าว
ภารกิจของ KBTG คือ การทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ชิพ ทำงานร่วมกับ FinTech ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีพาร์ตเนอร์ ซึ่งมีความสามารถ และมีเงินลงทุนในเรื่องต่างๆ ด้วยการเป็นตัวกลางในการเชื่อมเทคโนโลยีพาร์ตเนอร์เข้ากับ FinTech รวมทั้งศักยภาพของกสิกรไทยเองในเรื่องบริการทางการเงินที่มีมาตลอด 70 ปี พร้อมใช้จุดแข็งทางด้านนวัตกรรมของบริษัทเหล่านี้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น การสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมีโอกาสเข้าถึงตลาดที่กว้างขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีปัจจัยสนับสนุนการทำธุรกิจของ Tech Startup ที่สำคัญ นั่นคือ โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (IT Infrastructure) ที่แข็งแกร่งและมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงจะช่วยให้ Tech Startup มีศักยภาพมากขึ้นในการพัฒนา และขยายผลนวัตกรรมอย่างรวดเร็วในอนาคต
สร้างความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค
เมื่อนวัตกรรมต่างๆ มีความก้าวหน้าและตอบสนองการใช้งานได้มากยิ่งขึ้นจะส่งผลให้โลกของการเงินเปลี่ยนไป เป็นโลกที่สะดวกสบายมากขึ้น โดยในปัจจุบันเราเป็นศูนย์กลางทางการเงินในตลาด CLMV ซึ่งหากมีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ จะส่งผลให้สามารถเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคได้อย่างแน่นอน
“โครงการที่เริ่มต้นแล้วระหว่าง KBTG กับ FinTech จะเป็นในรูปแบบ Co-Creation ที่เปิดเผยได้ตอนนี้ก็มี Flowaccount นวัตกรรมเพื่อสนับสนุน SMEs และ Jitta ที่เกี่ยวกับด้านหุ้น และอีก 4-5 รายที่อยู่ในขั้นตอนการเจรจา ส่วนนวัตกรรมในอนาคตที่จะทำร่วมกันอื่นๆ ก็จะซัพพอร์ตในเรื่องเพย์เมนต์ การออม การบริหารความเสี่ยง ป้องกันการทุจริตในองค์กร ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่ออนาคต”
การเปลี่ยนแปลงของวงการธุรกรรมทางด้านการเงินในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ฝั่งเอกชนก็มีการเดินหน้าแล้วในหลายๆอย่าง ทางภาครัฐเองก็ต้องเร่งกระบวนการทำงานให้รองรับเทคโนโลยีอย่างเท่าทันเช่นกัน และส่วนที่สำคัญที่สุดอย่างผู้ใช้งานก็จำเป็นต้องเรียนรู้และเปิดรับเพื่อให้โลกอนาคตเกิดขึ้นได้จริง