หลายคนน่าจะจำชื่อของผู้ผลิตพาหนะส่วนบุคคล ที่สามารถทรงตัวอยู่ได้แม้จะมีเพียงสองล้ออย่าง Segway ได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากจะช่วยเร่งนวัตกรรมด้านการเดินทางในอาคารของผู้คนในปัจจุบันแล้ว ดูเหมือนว่าอดีตนักพัฒนาที่อยู่เบื้องหลังเจ้ารถสองล้อคันนี้ จะขยับโครงการวิจัยไปสู่เป้าหมายใหม่อย่างการสร้างแขนเทียมที่สามารถควบคุมได้ผ่านระบบประสาทอย่างเต็มรูปแบบในที่สุด
LUKE (Life Under Kinetic Evolution) คือชื่อของโครงการแขนเทียมที่ได้รับการพัฒนาโดย Dean Kamen อดีตนักวิจัยของ Segway โดยเจ้าแขนเทียมนี้ได้ถูกออกแบบมาให้ผู้พิการระดับไหล่สามารถสวมใส่ได้อย่างราบรื่น โดยมีระบบภายในขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี IMUs (Inertial Measurement Units) ที่นอกจากจะช่วยให้ผู้ใช้สั่งการแขนเทียมนี้ด้วยกล้ามเนื้อและระบบประสาทได้แล้ว ยังสามารถสร้างแรงตอบสนองให้กล้ามเนื้อผู้ใช้ “รู้สึกถึงการสัมผัส” ผ่านแขนเทียมตัวนี้ได้ด้วยสัญญาณไฟฟ้าและระบบกระตุ้นด้วยแรงดันผสมผสานกัน นอกจากนั้นตัวแขนยังมีขนาดและน้ำหนักเบาสามารถเอื้อมไปเกาด้านหลังของผู้ใส่ได้ รวมถึงแข็งแรงพอที่จะยกถุงช้อปปิ้งน้ำหนักมาตรฐานจากพื้นขึ้นไปวางบนโต๊ะ ทั้งยังปรับแต่งให้ใช้ในงานที่ต้องการความละเอียดมากขึ้นอย่างการถือแก้วน้ำได้ตั้งแต่ระดับแขนปกติกระทั่งชูขึ้นเหนือศรีษะอีกด้วย
ที่สำคัญก็คือ เจ้าแขนเทียมตัวนี้ได้รับการทดสอบมามากกว่า 10,000 ชั่วโมง จากผู้ทดสอบร่วมร้อย จนผ่านการรับรองจาก FDA เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และกำลังจะได้รับการจัดจำหน่ายออกสู่ตลาดจริงภายในปลายปี 2016 นี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นทหารผ่านศึกและผู้พิการจากอุบัติเหตุทั่วไป