อนาคตของสมาร์ทวอทช์

1

Apple Watch ยังครองส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทวอท์ชทั้งหมด

ขณะที่ผมกำลังหาข้อมูลประกอบการเขียนบทความนี้ ได้มีข่าวหนึ่งซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับวงการการศึกษาไทย นั่นคือข่าวการทุจริตการสอบเข้าศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง โดยผู้เข้าสอบได้ใช้นาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ หรือสมาร์ทวอทช์ ในการรับคำตอบจากบุคคลภายนอก ที่ได้ว่าจ้างให้นักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งเข้าไปสอบแล้วถ่ายรูปข้อสอบโดยใช้กล้องขนาดเล็กที่ติดกับแว่นตา!

“ให้ตายเถอะ!” ผมอุทาน ขณะกำลังดูรายการเล่าข่าวยามเช้ากับคุณแม่ แล้วคิดในใจ “นี่เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไรกัน!?” จุดที่เทคโนโลยีถูกใช้เป็นเครื่องมือทุจริตอย่างน่าไม่อาย อีกทั้งคณะที่น้องๆ เหล่านั้นต้องการเข้าศึกษา ก็เป็นหนึ่งในคณะที่เมื่อจบแล้วต้องออกไปรับใช้สังคม มีหน้ามีตา และมีหลักจรรยาบรรณเหนียวแน่น นี่ถ้ารู้จักโกงกันตั้งแต่ยังไม่ทันได้เรียน แล้วหากโตไปประกอบอาชีพจะทำได้ถึงขนาดไหน ก็เป็นเรื่องน่าคิด

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับบทความนี้!? ส่วนตัวแล้วคิดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมการใช้สมาร์ทวอทช์ที่เพิ่มขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้เราคิดแต่เพียงว่ามีเพียงผู้ใช้กลุ่ม Early Adopter เท่านั้นที่ยอมควักตังค์เป็นเจ้าของ และเมื่อได้ลองค้นหาในร้านค้าออนไลน์ชื่อดัง Lazada ก็พบสมาร์ทวอทช์มากมายหลากหลายราคา ตั้งแต่แบรนด์จีนราคาไม่กี่พัน ไปจนถึง Apple Watch ราคาหลักหมื่น จึงคิดว่าคงน่าสนใจไม่น้อยหากเราจะกลับมาวิเคราะห์อนาคตของมันอีกครั้ง

เราอยู่ตรงไหนกัน?
รายงานล่าสุดจาก Strategy Analytics แสดงให้เห็นยอดจัดส่งสมาร์ทวอทช์ที่เพิ่มขึ้นอย่างถล่มทลายกว่าร้อยละ 223 หรือจาก 1.3 ล้านหน่วย ในไตรมาสแรกของปีที่แล้ว ไปเป็น 4.2 ล้านหน่วย ในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยมีผู้นำตลาดคือ Apple ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดในไตรมาสแรกของปีอยู่ที่ร้อยละ 52.4 ตามมาด้วย Samsung ที่ร้อยละ 14.3 ขณะที่แบรนด์อื่นรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 33.3 สอดคล้องกับรายงานของ Gartner ที่ระบุว่า สมาร์ทวอทช์คือ สินค้าในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สวมใส่ได้ (Wearable Device) ที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด

เป็นความจริงที่ว่า สมาร์ทวอทช์ไม่ใช่ของใหม่ เพราะมีอยู่ในตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว แต่สาเหตุที่ทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็เพราะผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้พัฒนาให้ความสำคัญกับการงานดีไซน์และความเป็นเอกลักษณ์ ให้ผู้สวมใส่สามารถแสดงความเป็นตัวตนออกมาได้ และที่สำคัญคือ การเข้ามาอย่างเต็มตัวของ Apple กับ Google ที่ต่างพัฒนาแพลตฟอร์มสมาร์ทวอทช์ของตนอย่างเต็มรูปแบบ ก่อให้เกิดระบบนิเวศอันประกอบด้วยแอพพลิเคชั่น อุปกรณ์เสริม และบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การชำระเงินออนไลน์ เพิ่มความสะดวกให้กับชีวิตดิจิทัลของผู้ใช้ อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้พัฒนาเจ้าอื่นกระโดดเข้ามาร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มทางเลือกด้วย อาทิ Tizen จาก Samsung และ Pebble

e210-small

ฉบับที่ 210 เดือนมิถุนายน

FinTech 2.0 การเงินคลื่นลูกใหม่

อะไรที่โดน?
หนึ่งในคุณสมบัติอันโดดเด่นที่สุดของสมาร์ทวอทช์เห็นจะไม่มีอะไรเกิน “การแจ้งเตือน” เพราะขนาดหน้าจอที่เล็กนั้นได้เอื้อต่อการส่งข้อมูลขนาดย่อย ผู้ใช้เพียงชำเลืองมองด้วยหางตาก็ทราบได้ทันทีถึงการอัพเดตข่าวสาร ความเคลื่อนไหวในแวดวงสนทนา หรือข้อความเข้า โดยไม่ได้เสียเวลาควักสมาร์ทโฟน (ที่นับวันจะมีจอใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ) ออกมาจากกระเป๋า ทำให้ไม่เป็นการเสียมารยาทขณะกำลังนั่งโต๊ะร่วมกับผู้อื่น หรือพูดอีกหนึ่งก็คือ สมาร์ทวอทช์สามารถใช้เป็นหน้าจอที่สองและเป็นส่วนต่อขยายของสมาร์ทโฟนได้อย่างสมบูรณ์

อีกคุณสมบัติที่สมาร์ทวอทช์ทุกแบรนด์ต้องโฆษณาถึงก็คือ การตรวจวัดความฟิตและสุขภาพของผู้สวมใส่ เนื่องจากสมาร์ทวอทช์คืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ติดตัวผู้ใช้มากที่สุด จึงสามารถนำสารพันเซ็นเซอร์ขนาดจิ๋วมาประยุกต์เพื่อตรวจวัดสุขภาพของผู้ใช้ได้ อาทิ การวัดอัตราการเต้นหัวใจ การนับจำนวนก้าวที่เดิน และแอพฯ เพื่อการกีฬาต่างๆ เข้ากับเทรนด์ปัจจุบันที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญต่อการรักษาสุขภาพมากขึ้น

การตรวจวัดความฟิตและสุขภาพ คือหนึ่งในฟังก์ชั่นเด่นของสมาร์ทวอท์ช

การตรวจวัดความฟิตและสุขภาพ คือหนึ่งในฟังก์ชั่นเด่นของสมาร์ทวอท์ช

คุณสมบัติอันโดดเด่นที่สุดของสมาร์ทวอทช์เห็นจะไม่มีอะไรเกิน “การแจ้งเตือน” เพราะขนาดหน้าจอที่เล็กนั้นได้เอื้อต่อการส่งข้อมูลขนาดย่อย ผู้ใช้เพียงชำเลืองมองด้วยหางตาก็ทราบได้ทันที

และสำหรับฟังก์ชั่นสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ การใช้มันควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยรอบให้สมกับเป็นยุค Internet of Things (IoT) ที่เครื่องใช้ธรรมดาจะถูกติดไมโครชิปขนาดเล็ก เพิ่มความสามารถในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันและบันทึกข้อมูลอรรถประโยชน์ต่างๆ เช่น หลอดไฟ เครื่องปรับอากาศ หรือเครื่องเสียง รวมไปถึงการใช้สมาร์ทวอทช์เป็นเสมือน “บัตรผ่าน” กับ “บัตรเครดิต” ที่สามารถใช้สแกนหรือชำระเงินได้

อะไรที่ไม่โดน?
เนื่องจากยังถือว่าเป็นสินค้าน้องใหม่ในตลาด สมาร์ทวอทช์ยังมีข้อติติงอยู่บ้าง เริ่มจากการที่ต้องทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนแทบจะตลอดเวลา ตั้งแต่การติดตั้ง การลงแอพฯ รวมไปถึงการใช้งานบางคุณสมบัติ เช่น อินเทอร์เน็ต GPS และระบบการแจ้งเตือน เป็นต้น ทำให้เหมือนกับเป็นการบังคับให้เราต้องนำสมาร์ทโฟนไปด้วยตลอดเวลา ทั้งที่อยากวางไว้บนโต๊ะใจจะขาด มิหนำซ้ำการเชื่อมต่อในบางครั้งก็ยังสะดุดอยู่บ้าง โดยเฉพาะกับสมาร์ทวอทช์แบรนด์ราคาถูกที่โฆษณาว่าสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้หลายค่าย

และด้วยเหตุที่ต้องพึ่งพาสมาร์ทโฟนอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้สมาร์ทวอทช์ส่วนใหญ่มีแอพฯ Standalone น้อยมาก อีกทั้งที่มีอยู่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีคุณสมบัติอะไรที่น่าพูดถึงมากนัก ยกตัวอย่างเช่น แอพฯ แชตทั้งหลายที่ส่วนใหญ่รองรับได้แต่เพียงการดูข้อความเข้า แต่หากจะพิมพ์โต้ตอบก็ต้องหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาพิมพ์อยู่ดี

แอพฯ Standalone ของสมาร์ทวอท์ชที่ยังน้อย คือประเด็นที่ต้องแก้ไข

แอพฯ Standalone ของสมาร์ทวอท์ชที่ยังน้อย คือประเด็นที่ต้องแก้ไข

สมาร์ทวอทช์คืออุปกรณ์ที่ทำให้ความฝันในวัยเด็กของใครหลายคนเป็นจริงขึ้นมา เพราะต่อจากนี้ เราจะสามารถสื่อสารกับเพื่อนๆ ได้จากข้อมือเหมือนกับที่เคยเห็นในการ์ตูน

สำหรับข้อสุดท้ายที่นับว่าเป็นปัญหามากก็คือ อายุการใช้งานแบตเตอรี่ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง เช่น Apple Watch สามารถอยู่ได้เพียง 18 ชั่วโมง ภายใต้สภาวะการใช้งานปกติ ขณะที่นาฬิกาข้อมือทั่วไปสามารถอยู่ได้เป็นปี นอกจากนี้ ยังมีผู้ใช้บางส่วนแจ้งว่า การใช้งานร่วมกับสมาร์ทวอทช์ ทำให้สมาร์ทโฟนใช้พลังงานมากขึ้นด้วย เพราะต้องใช้บลูทูธรับส่งข้อมูลระหว่างกันตลอดเวลา หากสมาร์ทวอทช์รุ่นใหม่ๆ ได้รับการพัฒนาให้มีคุณสมบัติหลากหลายมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการใช้พลังงานที่มากขึ้น ก็จะทำให้เรื่องแบตเตอรี่กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค

อนาคตอยู่บนข้อมือ?
อาจกล่าวได้ว่า สมาร์ทวอทช์คืออุปกรณ์ที่ทำให้ความฝันในวัยเด็กของใครหลายคนเป็นจริงขึ้นมา เพราะต่อจากนี้ เราจะสามารถสื่อสารกับเพื่อนๆ ได้จากข้อมือเหมือนกับที่เคยเห็นในการ์ตูนหรือภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นคำถามจึงไม่ได้อยู่ที่สมาร์ทวอทช์จะอยู่หรือไป แต่อยู่ที่เมื่อไรมันจะถูกพัฒนาให้เต็มศักยภาพ

แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ผู้ผลิตต้องพยายามแก้ปัญหาที่กล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นอายุการใช้งานแบตเตอรี่ ปริมาณกับคุณภาพของแอพฯ ที่รองรับ ไปจนถึงเรื่องของ “มูลค่า” ในระยะยาว เพราะมักมีผู้นำไปเปรียบเทียบกับแบรนด์นาฬิกาข้อมือหรูอย่าง Cartier หรือ Patek ที่สามารถส่งมอบให้เป็นของขวัญจากรุ่นสู่รุ่นได้ ซึ่งการนำสายรัดจาก Hermès มาผูกไว้กับตัวเรือนอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ แต่อาจต้องเป็นอะไรที่เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้สวมใส่ ให้รู้สึกว่าสมาร์ทวอทช์เรือนนี้เป็นสิ่งที่บ่งบอกตัวตนที่แท้จริง หรือเป็นสิ่งที่โดดเด่น เรื่องแบบนี้อาจต้องใช้เวลา เพราะไม่แน่ว่าเมื่อ Apple มีอายุครบร้อยปี ราคาของ Apple Watch รุ่นแรกอาจพุ่งสูงขึ้น และกลายเป็นของหายาก

แต่ถึงอย่างไร อนาคตของสมาร์ทวอทช์อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้ผลิตอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีส่วนประกอบขณะนั้นด้วยว่าจะสามารถรองรับวิสัยทัศน์ที่ว่านั้นด้วยหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องแบตเตอรี่ เพราะหากยังไม่มีซัพพลายเออร์รายใดสามารถผลิตแบตเตอรี่ขนาดเล็กที่อึดทนนานได้แล้ว ผู้ผลิตสมาร์ทวอทช์ก็คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะหากินกันของเดิม เช่นเดียวกับขนาดของตัวเครื่องที่หากผู้ผลิตโปรเซสเซอร์ไม่สามารถผลิตชิปที่มีขนาดเล็กพอก็เป็นอันจบ เป็นต้น

ในอนาคตผู้ช่วยดิจิทัลอย่าง Siri คงจะสามารถจัดการธุระปะปังต่างๆ แทนเราได้

ในอนาคตผู้ช่วยดิจิทัลอย่าง Siri คงจะสามารถจัดการธุระปะปังต่างๆ แทนเราได้

นอกจากนี้ มีแนวคิดหนึ่งเกี่ยวกับสมาร์ทวอทช์ที่น่าสนใจนำมากล่าวถึงในที่นี้ก็คือ การทำให้มันเป็นเหมือนกับศูนย์กลางที่รวบรวมข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเรา และสามารถสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นที่อยู่โดยรอบ การดำเนินการทุกอย่างจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ปราศจากการป้อนคำสั่งโดยผู้ใช้ การทำงานซับซ้อนต่างๆ จะเกิดขึ้นอยู่เบื้องหลัง ภายใต้กลไกอันชาญฉลาดของ “บ็อต” (Bot) หรือ A.I. ที่ผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในคราวหน้าครับ

[efspanel style=”” type=””]
[efspanel-header]
Contributor
[/efspanel-header]
[efspanel-content]
falcon

falcon_mach_v

สรนาถ รัตนโรจน์มงคล

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 48 และปริญญาโทจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รหัส 55 ปัจจุบันประกอบอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับด้านไอที แต่ด้วยความชอบจึงได้มีงานเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เสมอ สามารถติดตามอ่านได้ที่ www.bitwiredblog.com และชมเว็บไซต์ผลงานภาพถ่ายได้ที่ http://iviewphoto.me

Facebook: sorranart

Website: ontechz.blogspot.com

[/efspanel-content]
[/efspanel]