อนาคตของ สมาร์ทโฟน

จุดเด่นของ Android คือใช้ได้กับหลายอุปกรณ์

จุดเด่นของ Android คือใช้ได้กับหลายอุปกรณ์

ที่วางอยู่บนโต๊ะผมตอนนี้คือ iPhone 5 ผมยัดมันใส่เคสหนังสีดำเรียบสนิทของ Apple จับมันวางคว่ำหน้าเพื่อไม่ให้ระบบแจ้งเตือนรบกวนขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ ใช่ครับ อายุอานามมันก็ร่วมสี่ปีแล้ว ซ่อมมาก็หลายครั้ง แต่มันก็ยังรับใช้ผมได้อย่างเต็มภาคภูมิ สมกับราคาที่กัดฟันซื้อมันมา

ที่น่าสนใจคือ ไม่ใช่ผมเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เปลี่ยนมือถือช้าลง แต่ก็มีคนรอบตัวผมที่พอใจกับเครื่องที่ใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนๆ หรือคนรู้จักก็มีไม่น้อยที่ใช้มือถืออายุเกินสามปีขึ้นไป และไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น เพราะผลสำรวจโดย Consumer Intelligence Research Partners (CIRP) สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ประชาชนชาวอเมริกันมีแนวโน้มเปลี่ยนมือถือช้าลง ผลการเก็บข้อมูลประจำไตรมาสสองของ ค.ศ. 2013 พบว่า ร้อยละ 5 ของผู้ใช้ iPhone ใช้มือถืออายุสามปีขึ้นไป ขณะที่ผลการสำรวจไตรมาสแรกของปีนี้พบว่า ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มเป็นร้อยละ 12 ทั้งหมดนี้ทำให้ยอดการเติบโตของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในประเทศดังกล่าวเหลือเพียงตัวเลขหลักเดียว

สาเหตุที่ผู้ใช้เปลี่ยนมือถือช้าลงอาจเกิดมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย การตลาดที่ไม่แรงพอ หรือสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ขาดฟีเจอร์ที่ทำให้คนร้อง “ว้าว” แต่ไม่ว่าจะเพราะเหตุใด ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อทิศทางในอนาคตของอวัยวะชิ้นที่ 33 นี้อย่างแน่นอน เราจะมาดูทีละประเด็นกันครับ

ได้เวลา iPhone ลงจากบัลลังก์?
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่หากเรามองย้อนกลับไปก็จะพบว่าในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเริ่มได้รับความนิยม มีผู้ผลิตหลายรายพยายามพัฒนาตนเองให้เป็นผู้นำตลาด ไม่ว่าจะเป็น Apple, Atari หรือ Commodore แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องยอมศิโรราบให้กับพีซี

t-4

ไตรมาสสองที่ผ่านมา ยอดขาย iPhone ที่ไม่กระเตื้องขึ้น ทำให้ Apple คลอด iPhone SE เพื่อกระตุ้นต่อมอยากเปลี่ยนเครื่องของคนชอบมือถือจอเล็ก ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะประสบความสำเร็จ

สาเหตุที่พีซีเป็นผู้มีชัยในศึกคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลก็เพราะความเปิดกว้าง ตอบโจทย์การใช้งานได้หลากหลาย และผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมาย ทำให้คู่แข่งที่เน้นพัฒนาระบบปิดอย่าง Apple ต้องยอมจำนน ซึ่งก็ไม่แน่เหมือนกันว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิมกับตลาดสมาร์ทโฟนหรือไม่

ที่ผมกล่าวเช่นนี้ก็เพราะ ตั้งแต่ Apple เปิดตัว iPhone เวอร์ชั่นแรก ยอดขายแต่ละปีของสินค้าตัวนี้ก็เพิ่มขึ้นตลอดเวลา จากยอดขายราว 7.3 ล้านหน่วยในช่วงสิ้น ค.ศ. 2007 ไปจนถึง 74.5 ล้านหน่วยในอีก 7 ปีต่อมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าวถือเป็น “ยุคทอง” ของ Apple อย่างแท้จริง บริษัทสามารถทำกำไรจาก iPhone ได้อย่างมหาศาลเสียจนกลบสินค้าอื่นแทบทั้งหมด สร้างเศรษฐกิจใหม่ด้วยร้านค้าแอพพลิเคชันออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงได้ผลักดันให้ Apple กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2016 ที่ผ่านมาพบว่า การเติบโตของยอดขาย iPhone เป็นศูนย์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซ้ำร้ายในช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมาพบว่ามียอดขายลดลงถึงร้อยละ 16 (YoY) หลายฝ่ายจึงมีความเห็นว่ายอดขาย iPhone ที่ไม่กระเตื้องขึ้นนี่ล่ะที่ทำให้ Apple คลอด iPhone SE เพื่อกระตุ้นต่อมอยากเปลี่ยนเครื่องของคนชอบมือถือจอเล็ก ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่า iPhone จะล้มครืนในชั่วข้ามคืน เพราะหากมองกันที่ยอดขายจริงแล้วก็นับว่าสูงอยู่ (เพียงแต่โตน้อยลง) และเชื่อว่าความสมบูรณ์แบบของแพลตฟอร์มจะทำให้ลูกค้าติดหนึบไปอีกนาน แต่ก็ใช่ว่าจะหลุดรอดจากผู้ท้าชิงอย่าง Android ไปได้

อีกหน่อยเราคงเห็นมือถือเรือธงสำหรับการรับชม Virtual Reality โดยเฉพาะ

อีกหน่อยเราคงเห็นมือถือเรือธงสำหรับการรับชม Virtual Reality โดยเฉพาะ

Android คือผู้กำชัย?
แน่นอนว่า Android คือระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก โดยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้มากกว่าร้อยละ 80 แม้ว่าอาจจะยังไม่เท่าส่วนแบ่งตลาดของ Windows บนแพลตฟอร์มพีซี แต่ก็นับว่าใกล้เคียงและไม่มีแนวโน้มจะลดลง

สาเหตุส่วนหนึ่งคือ Android ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสมบูรณ์แบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการที่มีความเสถียรและเร็วมากกว่า หรือการที่ผู้ผลิตค่ายต่างๆ พยายามลดทอนความ “เยอะ” และทำให้มือถือของตัวเองใช้งานง่ายขึ้น ดีไซน์ให้รูปลักษณ์ดูเรียบหรู แม้แต่กับแบรนด์จากจีนที่เคยถูกดูถูกมานานก็พัฒนาตัวเองให้ผู้บริโภคยอมรับมากขึ้น

จริงอยู่ที่ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ แต่ผมเชื่อว่านั่นจะไม่ทำให้ Android เสื่อมความนิยมลง ดูตัวอย่างจาก Microsoft สาเหตุที่บริษัทยังเป็นผู้นำพีซีก็เพราะ Windows ได้รับการออกแบบให้ทำงานร่วมกับอุปกรณ์ที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตหลายรายพัฒนาสารพันอุปกรณ์ที่เข้ามาเป็นตัวเลือกของผู้บริโภค ไม่ใช่เพราะผู้บริโภครัก Windows แต่อย่างใด Android ก็ตกอยู่ภายใต้หลักการเดียวกัน ในระยะยาวแล้ว หุ่นเขียวมีแนวโน้มเป็นผู้ชนะสูง เพราะความเปิดกว้างของระบบสร้างโอกาสให้คู่ค้าพัฒนาซอฟต์แวร์กับฮาร์ดแวร์ให้สอดรับกับผู้บริโภคได้หลากหลายกลุ่ม

ฉบับที่ 212 เดือนสิงหาคม

วิธีสร้างธุรกิจอย่างสตาร์ทอัพ

ฮาร์ดแวร์จะหลากหลายมากขึ้น
สมาร์ทโฟนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เมื่อแรกเริ่มผู้พัฒนาจะให้ความสำคัญกับงานดีไซน์ที่ผู้ใช้สามารถถือด้วยมือเดียวได้อย่างสะดวก สมาร์ทโฟนขนาด 1 ฝ่ามือจึงเป็นไอคอนของการพัฒนาในยุคนั้น แต่ต่อมาเมื่อสมาร์ทโฟนมีความสามารถมากกว่าโทรเข้า-ออกและเช็กอีเมล หน้าจอจึงได้รับการขยายขนาดให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งาน จนมาอยู่ที่ราว 4.5-5.5 นิ้วในปัจจุบัน

แม้ว่าการมาถึงของ iPhone SE อาจทำให้หลายคนคิดว่าแนวโน้มการพัฒนามือถือจะวกกลับไปที่หน้าจอเล็กเหมือนเดิม แต่ผมกลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะยิ่งมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น ความต้องการก็ยิ่งหลากหลายตามไปด้วย อีกทั้ง ภาพลักษณ์ของสมาร์ทโฟนในตอนนี้ไม่ถูกมองว่าเป็นเพียงของเล่น “เจ๋งๆ” สำหรับคนมีเงินอีกต่อไป แต่ได้กลายมาเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จำเป็นสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็แน่นอนว่าความจำเป็นที่ว่าก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย

นี่คือเหตุผลที่ทำไมค่ายผู้ผลิตต่างๆ ถึงพัฒนาสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ไอทีออกมาหลากหลายชวนสับสนไปหมด ไม่ใช่เฉพาะผู้ผลิตทั่วไป แต่กระทั่งกับ Apple เองที่ขึ้นชื่อว่ามีไลน์อุปกรณ์ที่เรียบง่ายที่สุดยังต้องซอยย่อยผลิตภัณฑ์ของตนเองมากขึ้น และผมเชื่อว่าในอนาคตคงได้เห็นสารพันมือถือที่มีหน้าจอตั้งแต่ 4 – 6 นิ้ว โปรเซสเซอร์ตั้งแต่ดูอัลคอร์ไปจนถึงสารพัดคอร์ แบตเตอรี่ใหญ่เล็ก มีระบบสแกนลายนิ้วมือ กล้องที่สามารถรู้จำใบหน้าของผู้ใช้ และที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดก็คือ โมดูลเสริม ที่สามารถใส่เพิ่มเติมคุณสมบัติให้กับมือถือได้ เช่น ให้ลำโพงเสียงชัดขึ้น แบตอึดขึ้น หรือฉายภาพขึ้นจอโปรเจ็คเตอร์ เป็นต้น อาทิ สมาร์ทโฟน Moto Z ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานนี้

จุดเด่นของ Moto Z คือ Mods ที่สามารถใส่เสริมความสามารถของมือถือได้

จุดเด่นของ Moto Z คือ Mods ที่สามารถใส่เสริมความสามารถของมือถือได้

ต่อไปคงไม่มีใครสามารถตอบคำถาม “มือถือ Android ที่เจ๋งที่สุดคือรุ่นไหน” แต่คงต้องย้อนถามกลับว่า จะนำมันไปใช้ทำอะไรเป็นหลักมากกว่า

แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าทิศทางการเติบโตของสมาร์ทโฟนจะกระจายจนไม่สามารถจับทิศทางได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ผู้ผลิตคงต้องพยายามนำเสนอโมเดลเรือธงของตนให้น่าสนใจมากที่สุด แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการซอยย่อยลงไปตามกลุ่มลูกค้าที่ต้องการโฟกัส ยกตัวอย่างเช่น มือถือรุ่นนี้คือเรือธงสำหรับหน้าจอไม่เกิน 4 นิ้ว หรือนี่คือสุดยอดแฟ็บเล็ตสำหรับใช้รับชม Virtual Reality (VR) เป็นต้น คงไม่มีอีกต่อไปแล้วที่แต่ละค่ายจะมีโมเดลเรือธงเพียงรุ่นเดียว เพราะลูกค้าหลายกลุ่มก็มีความต้องการหลากหลายต่างกันไป

สรุป
การติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดสมาร์ทโฟนคือหนึ่งในความชอบที่ผมเอ็นจอยกับมันมากที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพราะตลาดมีการแข่งขันสูง มีความเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว และพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดแทบจะทุกปี แม้ว่าตลาดช่วงที่ผ่านมาอาจดูเนือยๆ ไปบ้าง แต่ส่วนหนึ่งก็เพราะบรรดาผู้ผลิตกำลังซุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายให้สอดรับความต้องการของผู้บริโภคที่เริ่มเยอะขึ้นและซับซ้อนยิ่งกว่า นับแต่นี้ต่อไปคงไม่มีใครสามารถตอบคำถาม “มือถือ Android ที่เจ๋งที่สุดคือรุ่นไหน” แต่คงต้องย้อนถามกลับว่า จะนำมันไปใช้ทำอะไรเป็นหลักมากกว่า เพราะในแต่ละชุดความต้องการของผู้บริโภคก็จะมีมือถือรุ่นเรือธงที่เหมาะสมสอดรับกัน

หรือนี่อาจถึงเวลาแล้วที่ผมต้องเปลี่ยนมือถือใหม่เสียที…?

[efspanel style=”” type=””]
[efspanel-header]
Contributor
[/efspanel-header]
[efspanel-content]
falcon

falcon_mach_v

สรนาถ รัตนโรจน์มงคล

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 48 และปริญญาโทจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รหัส 55 ปัจจุบันประกอบอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับด้านไอที แต่ด้วยความชอบจึงได้มีงานเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เสมอ สามารถติดตามอ่านได้ที่ www.bitwiredblog.com และชมเว็บไซต์ผลงานภาพถ่ายได้ที่ http://iviewphoto.me

Facebook: sorranart

Website: ontechz.blogspot.com

[/efspanel-content]
[/efspanel]