เส้นคั่นที่เลือนหายระหว่าง แท็บเล็ตกับแล็บท็อป

เมื่อคราว Apple เปิดตัว iPad เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เส้นแบ่งหน้าที่ระหว่างแท็บเล็ต กับแล็ปท็อปยังคงปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน แท็บเล็ตคืออุปกรณ์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อบริโภคความบันเทิงเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเล่นเกม ดูหนัง หรือฟังเพลง ส่วนแล็บท็อปคือคอมพิวเตอร์เพื่อการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นมือครีเอทีฟที่ต้องพึ่ง MacBook Pro หรือพนักงานที่หากินกับชุดซอฟต์แวร์ Office แม้ว่าจะมีอุปกรณ์เสริมประเภทคีย์บอร์ดออกมาสำหรับใช้งานร่วมกับแท็บเล็ต เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการพิมพ์ข้อความ หรือปรากฏแล็บท็อปที่สามารถเปลี่ยนร่างเป็นแท็บเล็ตได้ แต่การใช้งานในลักษณะไฮบริดเช่นนั้น ก็ยังไม่สะดวกพอสำหรับยูสเซอร์หลายคน Tim Cook ซีอีโอของ Apple เคยถึงกับค่อนขอดอุปกรณ์ไฮบริดไว้ว่า “คุณสามารถผสมเตาปิ้งขนมปังกับตู้เย็นได้นะ แต่คงไม่มีใครใช้มันแน่นอน”

Tech2-1

Apple ต้องการผลักดันให้ iPad Pro เป็นอุปกรณ์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อบริโภคเนื้อหาดิจิทัลแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนกับ iPad รุ่นอื่น อีกทั้ง ปีนี้ไม่มีการเปิดตัว iPad Air รุ่นใหม่แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป ก็ดูเหมือนว่าอุปกรณ์ไฮบริดจะกลับมาได้รับความสนใจจากบรรดาหัวหอกของวงการไอทีอีกครั้ง ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ใหม่ๆ เอื้อให้ผู้ผลิตสามารถพัฒนาอุปกรณ์ที่บางลงและมีความสามารถมากขึ้น จนในที่สุดอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เส้นคั่นแบ่งหน้าที่ระหว่างแล็บท็อปกับแท็บเล็ตอาจหายไป และถูกนำมาใช้ทดแทนกันได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มในที่สุด

แล็บท็อปที่บางลง
เมื่อช่วงที่ผ่านมา บริษัท Intel ได้เปิดตัวโปรเซสเซอร์ใหม่ที่มีชื่อรหัสว่า Skylake หรือที่มีชื่อทางการตลาดว่าคอร์รุ่นที่ 6 เมื่อดูเผินๆ ก็อาจคิดว่ามันเป็นเพียงการอัพเดตประจำปีที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่หากวิเคราะห์ดีๆ แล้วก็จะพบว่า มันมีคุณสมบัติใหม่ที่น่าสนใจไม่น้อย และอาจใช้เป็นรากฐานสำคัญสำหรับอุปกรณ์พีซีในยุคหน้าได้เลยทีเดียว

Intel ให้คำจำกัดความ Skylake ว่า “โปรเซสเซอร์ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา” เพราะนอกจากจะได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพการประมวลผลสูงขึ้นแล้ว ก็ยังได้รับการออกแบบให้ประหยัดหลังงานกว่าเดิมถึงสามเท่า ขณะที่มีความสามารถด้านกราฟิกดีกว่าพีซีทั่วไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วอีกด้วย ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยการออกแบบโครงสร้างภายในโปรเซสเซอร์และการลดขนาดกระบวนการผลิต จึงทำให้ปลดปล่อยพลังงานออกมาน้อยลง

นั่นหมายความว่า Skylake เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตพีซีสามารถพัฒนาฮาร์ดแวร์ให้มีน้ำหนักและความหนาน้อยลงยิ่งกว่าเดิม ขณะที่มีความสามารถมากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น การที่ชิปปลดปล่อยพลังงานออกมาน้อยลงยังทำให้เกิดความร้อนน้อยกว่า ทำให้สามารถออกแบบแล็บท็อปได้โดยไม่ต้องมีพัดลมระบายอากาศและมีสายเชื่อมต่อที่น้อย เพราะมาพร้อมกับการรองรับเทคโนโลยีใหม่อย่างพอร์ต USB-C ที่มีขนาดเล็กและบาง โดยเห็นตัวอย่างได้จากบน MacBook รุ่นใหม่ล่าสุด

หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ พีซีที่ใช้ Skylake สามารถมีรูปร่างหน้าตาสุดเฉียบได้เช่นเดียวกับแท็บเล็ต ขณะที่มีความสามารถในการประมวลผลได้ดีเทียบเท่าแล็บท็อปที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวัน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบนโลกไอที!

หลายคนอาจแย้งว่า มันเคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วสมัยที่ Microsoft เปิดตัว Windows 8 ที่มาพร้อมหน้าจอเริ่มต้นรองรับระบบสัมผัสอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งในตอนนั้นมีผู้ผลิตฮาร์ดแวร์หลายรายสรรค์สร้างคอมพิวเตอร์ไฮบริดออกมาจำนวนหนึ่ง (และผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับมันด้วย ให้ตายสิ!) แต่กาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่ามันมาเร็วเกินไป ทั้งฮาร์ดแวร์ที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ และระบบปฏิบัติการ Windows 8 ก็ยังไม่ได้รับการขัดเกลาให้ดีพอ จึงไม่สามารถสร้างกระแสตอบรับในแง่บวกได้ดีนัก

e203

ฉบับที่ 203 เดือนพฤศจิกายน

FinTech อนาคตโลกการเงิน

แต่เมื่อ Windows 10 เปิดตัวพร้อมกับเสียงวิจารณ์ในทางบวก ประกอบกับ Microsoft พยายามผลักดันอุปกรณ์ไฮบริดให้แจ้งเกิดในวงการโดยมี Surface เป็นหัวหอกนั้น ได้ทำให้ผู้ผลิตรายต่างๆ ต้องหันมามองตลาดนี้อีกครั้ง อีกทั้ง Windows 10 ก็มาพร้อมกับฟีเจอร์อำนวยความสะดวกหลายอย่าง อาทิ ระบบรู้จำใบหน้า และเทคโนโลยีชาร์จไฟแบบไร้สาย เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้อาจทำให้ผู้บริโภคอยากเป็นเจ้าของพีซีเครื่องใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ปันใจไปสู่สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมาเสียนาน

ถึงคราวแท็บเล็ตพัฒนาตัวเอง
ซึ่งถ้าแนวโน้มไปทางนั้นจริงก็ย่อมจะต้องสร้างปัญหาให้กับผู้ผลิตแท็บเล็ตรายใหญ่เป็นแน่ รายงานล่าสุดจาก IDC เปิดเผยว่า ตลาดแท็บเล็ตทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยลดลงกว่าร้อยละเจ็ดในช่วงไตรมาสสองของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ Apple ซึ่งได้รับการสดุดีว่าเป็นผู้บุกเบิกตลาดแท็บเล็ต ก็พบว่ามียอดขาย iPad ลดลงกว่าร้อยละ 18 ในไตรสองเมื่อเทียบกับเมื่อปีที่แล้ว และมียอดจำหน่ายคิดเป็นร้อยละ 9.1 ของรายรับทั้งหมดของบริษัทเท่านั้น

Tech2-2

Windows 10 ก็มาพร้อมกับฟีเจอร์อำนวยความสะดวกหลายอย่าง อาทิ ระบบรู้จำใบหน้า และเทคโนโลยีชาร์จไฟแบบไร้สาย เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้อาจทำให้ผู้บริโภคอยากเป็นเจ้าของพีซีเครื่องใหม่อีกครั้ง

นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บริษัทจะเปิดตัว iPad Pro เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดกลับคืนมา แต่อย่างไรก็ดี iPad ยักษ์นี้ไม่ได้มีดีแค่จอใหญ่กว่า เพราะมันมาพร้อมกับโปรเซสเซอร์ประสิทธิภาพสูง คีย์บอร์ด และอุปกรณ์การเขียนที่เรียกว่า Pencil พร้อมกับการโปรโมตบรรดาแอพพลิเคชั่นยอดนิยมสำหรับชาวแล็บท็อปอย่างซอฟต์แวร์ของ Adobe และของ Microsoft

สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า Apple ต้องการผลักดันให้ iPad Pro เป็นอุปกรณ์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อบริโภคเนื้อหาดิจิทัลแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนกับ iPad รุ่นอื่น อีกทั้ง ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าปีนี้ไม่มีการเปิดตัว iPad Air รุ่นใหม่แต่อย่างใด มีแต่เพียง iPad Mini 4 เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแท็บเล็ตจอใหญ่ แต่ทำอะไรไม่ได้นอกจากรับชมเนื้อหา ไม่ได้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอีกต่อไปแล้วนั่นเอง

แต่ก็อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า แล็บท็อปคือเครื่องมือสำหรับทำงาน ส่วนแท็บเล็ตคือเครื่องมือสำหรับบริโภคเนื้อหา แล้วกลุ่มลูกค้าของ iPad Pro (ตลอดจนแท็บเล็ตที่มีคุณลักษณะเดียวกับจากผู้ผลิตอื่น) คือใคร? แล้วจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องวิ่งโร่ไปต่อคิวซื้อในวันเปิดตัว? ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ต้องมาดูสถานการณ์ผู้บริโภคปัจจุบันก่อนว่า ผู้คนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ และเด็กๆ ล้วนแต่คุ้นเคยกับหน้าจอสัมผัสจากการใช้งานสมาร์ทโฟนกันอยู่แล้วทั้งสิ้น อีกทั้ง iOS ก็เป็นระบบปฏิบัติการที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับใช้งานกับหน้าจอทัชตั้งแต่ต้น จึงทำให้วิเคราะห์ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายของ iPad Pro อาจไม่ใช่คนทำงานที่คุ้นเคยกับแล็บท็อปอยู่แล้ว แต่หากคือผู้บริโภคที่คุ้นชินกับอุปกรณ์หน้าจอสัมผัส แต่อยากเป็นเจ้าของอุปกรณ์ใหม่ที่สามารถใช้สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างถนัดมือโดยไม่สูญเสียประสบการณ์ใช้งานที่ตนชื่นชอบ iPad Pro จึงยังไม่ใช่แล็บท็อปสำหรับวันนี้ แต่มันอาจจะมาแทนที่ในวันหน้า เมื่อผู้คนเจเนอเรชั่นใหม่ล่าสุดได้เติบโตเข้าสู่โลกของการทำงาน เช่นเดียวกับที่คนวัยทำงานยุคของเราที่อยู่ไม่ได้หากไม่มีพีซีนั่นเอง

สรุป
แม้ว่าในตอนนี้ เส้นคั่นระหว่างแท็บเล็ตกับแล็บท็อปจะยังคงอยู่ แต่ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีก็ทำให้มันเจือจางลงมากกว่าที่เคย แล็บท็อปในอดีตที่เคยใหญ่เทอะทะและใช้งานในลักษณะไฮบริดไม่ได้ความนั้น ได้รับการแทนที่ด้วยฮาร์ดแวร์ใหม่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสร้างชิ้นงานที่มีลักษณะบางเบาและใกล้เคียงกับแท็บเล็ตมากขึ้นเข้าไปทุกที เหล่านี้ได้ทำให้อุปกรณ์ที่เคยถูกมองว่าล้าหลังและใกล้สูญพันธ์กลับมาได้รับความสนใจมากขึ้นอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน แท็บเล็ตก็ได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถมากขึ้น จากที่เคยถูกมองว่าเป็นเพียง iPod Touch เวอร์ชั่นจอใหญ่ที่ใช้ประโยชน์อื่นไม่ได้นอกจากรับชมเนื้อหาดิจิทัลนั้น ก็ได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งฮาร์ดแวร์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพไม่แพ้ในแล็บท็อป ตลอดจนการมาพร้อมกับอุปกรณ์เสริมอย่างคีย์บอร์ดและปากกาสไตลัส ประกอบกับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเสริมให้มีความสามารถขั้นสูงมากขึ้น จึงทำให้มันกลายมาเป็นอุปกรณ์เพื่อการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มรูปแบบ

แน่นอนว่า ผู้บริโภคที่คุ้นชินเมาส์กับคีย์บอร์ดอยู่แล้วคงไม่เห็นความจำเป็นต้องซื้อ iPad Pro แต่ไม่แน่ว่าสำหรับผู้บริโภคในยุคหน้าที่เติบโตมาพร้อมกับอุปกรณ์หน้าจอสัมผัสอาจเห็นมันเป็นของตายและใช้เป็นเครื่องมือประกอบการทำมาหากิน

และไม่แน่ว่า ในวันนั้นเราอาจซื้อตู้เย็นที่ปิ้งขนมปังได้จากในห้างแถวบ้านก็ได้นะครับ

[efspanel style=”” type=””]
[efspanel-header]
Contributor
[/efspanel-header]
[efspanel-content]
falcon

falcon_mach_v

สรนาถ รัตนโรจน์มงคล

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 48 และปริญญาโทจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รหัส 55 ปัจจุบันประกอบอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับด้านไอที แต่ด้วยความชอบจึงได้มีงานเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เสมอ สามารถติดตามอ่านได้ที่ www.bitwiredblog.com และชมเว็บไซต์ผลงานภาพถ่ายได้ที่ http://iviewphoto.me

Facebook: sorranart

Website: ontechz.blogspot.com

[/efspanel-content]
[/efspanel]