4 เทรนด์ เทคโนโลยีน่าจับตา แห่งปี 2016

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยที่ทำให้เทคโนโลยีเป็นประเด็นที่น่าติดตามคือ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และมีแนวโน้มทวีความรวดเร็วมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง คนรอบข้าง และสังคมใหญ่ การทำนายทิศทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงสามารถทำได้ยาก และถึงแม้จะได้ข้อสรุป ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงจะเป็นไปตามนั้นเสมอไป

tech1-1

หากเรากำลังสนทนากับเพื่อนในแอพพลิเคชั่น Facebook Messenger เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง Steve Jobs และสั่งให้ Google Now On Tap ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ระบบจะสามารถแยกได้ว่าเรากำลังพูดถึง “ภาพยนตร์”

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีสารสนเทศก็ยังคงเป็นเรื่องสนุกและท้าทายอย่างยิ่ง และสำหรับแนวโน้มที่น่าสนใจสำหรับปี 2016 นี้ ผมได้ขมวดปมมาให้ท่านผู้อ่านรับทราบแล้ว ขอเชิญทัศนากันต่อไปได้เลยครับ

Seeing is Sharing : เมื่อสารพัดเครื่องมือสื่อสารอยู่ในมือทุกคน
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้แทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ กล้องถ่ายรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (บางรายการ) ผู้บริโภคจึงสามารถใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลและแอพพลิเคชั่นบนโลกออนไลน์ รวมไปถึงเป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนฝูง ชุมชนทางสังคม หน่วยงานภาครัฐ และเจรจาทางธุรกิจ Gartner เรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า The Device Mesh โดยเป็นการเปรียบเทียบว่าอุปกรณ์ไฮเทคสามารถเชื่อมโยงถึงกันเหมือนกับตาข่ายที่มองไม่เห็น

เมื่ออุปกรณ์เหล่านี้ได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพมากขึ้น การสื่อสารด้วยวิธีดังกล่าวก็มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นตามไปด้วย ปรากฏการณ์น่าสนใจที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ “การสตรีมมิ่งเนื้อหาโดยผู้บริโภค” ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Twitch, Periscope และ Meerkat ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ “ถ่ายทอดสด” สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวผ่านโทรศัพท์มือถือให้บรรดาแฟนๆ ได้รับชม ผลคือการรับชมเนื้อหาผ่านมุมมองที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน อาทิ การสาธิตวิธีทำอาหารแบบสดๆ การรายงานภัยธรรมชาติโดยผู้อยู่ในเหตุการณ์ ไปจนถึงการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาจากผู้ชมที่อยู่ข้างสนามแข่ง เป็นต้น

แน่นอนว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ก็คือ โครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับการเชื่อมต่อข้อมูลมากมายมหาศาล เช่น การเชื่อมต่อความเร็ว 4G ที่ผู้บริโภคชาวไทยคงได้ใช้อย่างเป็นทางการในปีนี้ และฮาร์ดแวร์ที่เหมาะสม แม้ว่าสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ สามารถใช้เป็นกล้องถ่ายทอดสดชั้นยอด แต่การมาถึงของเทคโนโลยี Virtual Reality (vr) ต่างหากที่จะทำให้คนจากอีกฟากหนึ่งของโลกใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้พัฒนาหลายรายให้ความสำคัญและต่างกำลังช่วงชิงความเป็นผู้นำของแพลตฟอร์มใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Facebook/Oculus, Valve, Sony และ Google ซึ่งแต่ละฝ่ายก็กำลังขัดเกลาฮาร์ดแวร์ของตนให้พร้อมวางจำหน่ายในปีนี้ ถึงแม้จะดูเหมือนว่าเทคโนโลยีนี้จะพุ่งเป้าไปที่การเล่นเกมเป็นอับดับแรก แต่เมื่อฮาร์ดแวร์ได้รับพัฒนามากขึ้นและมีความซับซ้อนน้อยลง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกใช้เป็นสื่อใหม่โดยผู้บริโภคด้วยวิธีการหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว พบปะสังสรรค์ หรือรับชมภาพยนตร์ร่วมกัน

e205

ฉบับที่ 205 เดือนมกราคม

NextGen ของโฆษณาบน Mobile

Smarter Smartphone : อุปกรณ์ไฮเทคที่ฉลาดยิ่งขึ้น
ทุกวันนี้เราพึ่งพาสมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันมากขึ้น ตั้งแต่การเช็กอีเมลยามเช้า อัพเดตความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ตอนสาย สั่งสินค้าออนไลน์ยามบ่าย และแจ้งเตือนให้เข้าคลาสฟิตเนสช่วงเย็น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แอพ-พลิเคชั่นในปัจจุบันต่างแยกกันทำงานอย่างโดดเดี่ยว จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใช้ที่จะต้องสลับแอพพลิเคชั่นไปมาเพื่อให้สามารถใช้งานตรงตามต้องการ คงจะดีไม่น้อยหากแอพฯ เหล่านี้สามารถทำงานร่วมกัน และจัดการการใช้งานยิบย่อยของเราโดยอัตโนมัติ

ทุกวันนี้จึงมีแอพพลิเคชั่นมากมายที่จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการช่องว่างดังกล่าว โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคล สถานที่ และการเชื่อมโยงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกจริง แอพพลิเคชั่น IF โดย IFTTT ให้ผู้ใช้สร้างการเชื่อมโยงอัตโนมัติระหว่างแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่อยู่ในเครื่องโดยใช้คุณลักษณะที่เรียกว่า Recipe เช่น ตั้งให้ภาพถ่ายที่ได้รับการใส่ # ถูกเซฟเก็บไว้ใน Dropbox โดยอัตโนมัติ เซฟทวีตที่ชื่นชอบโดยอัตโนมัติลง Evernote และแชร์อัพเดต Facebook ลงใน Tumblr หรือ LinkedIn เป็นต้น ส่วนแอพพลิเคชั่น Mumble นั้นก็จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการแจ้งเตือนล้นเกินจากสารพัดแอพพลิเคชั่นด้วยการจัดลำดับความสำคัญ ก่อนที่จะส่งสัญญาณไปยังผู้ใช้ด้วยการสั่นที่ระดับความแรงแตกต่างกันตามความสำคัญของข้อความหรือแจ้งเตือนที่เข้ามา เครื่องมือเล็กน้อยเหล่านี้ฟังดูเหมือนไม่มีอะไรมาก แต่หากนำมาใช้อย่างชาญฉลาดก็ช่วยให้สมาร์ทโฟนตอบสนองการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือเหล่านั้นก็ยังอาศัยผู้ใช้เข้าไปตั้งค่าอยู่ดี ลองคิดดูว่าจะดีแค่ไหนหากมันสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง? Google Now On Tap คือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถใกล้เคียงกับคุณลักษณะดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะให้ผู้ใช้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากในแอพพลิเคชั่น และสามารถเรียนรู้ความต้องการโดยอาศัยการตีความบริบทการใช้งานด้วยตัวเอง

ยกตัวอย่างเช่น หากเรากำลังสนทนากับเพื่อนในแอพพลิเคชั่น Facebook Messenger เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง Steve Jobs และสั่งให้ Google Now On Tap ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ระบบจะสามารถแยกได้ว่าเรากำลังพูดถึง “ภาพยนตร์” ไม่ใช่ “บุคคล” ด้วยการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับรอบการฉาย เรตติ้ง และรายชื่อนักแสดง เป็นต้น ฟังดูอาจน่ากลัวไปนิด ราวกับว่าผู้ใช้งานถูกจับตาดูตลอดเวลา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้นเช่นกัน

tech1-2

มีการเปิดตัว Google Cloud Vision API ทำให้นักพัฒนาสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี learning machine ที่สามารถระบุวัตถุ รวมไปถึงหน้าตา และอารมณ์ของบุคคลที่มันกำลังมองอยู่ได้อีกด้วย

Machine Economy : เศรษฐกิจจักรกลอัจฉริยะ
ทุกวันนี้รอบตัวเราเต็มไปด้วยสมองกลอัจฉริยะที่ช่วยอำนวยความสะดวกมากมาย เพียงแต่มันอยู่ในรูปแบบของอุปกรณ์ขนาดเล็กหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์แทนที่จะมีรูปร่างหรือ C3PO หรือ R2D2 เครื่องมือสื่อสารที่อยู่ในมือเราคือแหล่งผลิตข้อมูลชั้นดีที่สามารถนำไปใช้ตีความหรือคาดเดาเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยอาศัยการเรียนรู้สภาพแวดล้อมโดยรอบและเรียนรู้ที่จะเติบโตไปพร้อมกัน Gartner ทำนายว่า แนวคิด Advanced Machine Learning จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของมันได้เองในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ฐานข้อมูลประวัติทางการแพทย์สามารถเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกที่ไม่เคยรู้มาก่อนของประสิทธิภาพในการรักษา เป็นต้น

ขยับใกล้ตัวเข้ามาอีกนิด จักรกลในทุกวันนี้ไม่เพียงแต่จะสามารถตีความข้อมูลตัวอักษรได้เท่านั้น แต่ยังสามารถ “อ่าน” ข้อมูลจากภาพถ่ายได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่น Google Translate สามารถแปลป้ายถนนและเมนูอาหารได้มากกว่า 90 ภาษาทั่วโลก โดยใช้ภาพถ่ายจากสมาร์ทโฟน ส่วนรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติของบริษัทที่ต้องอาศัยข้อมูลจากสภาพแวดล้อมบนถนนนั้นก็วิ่งไปแล้วเป็นระยะทางรวม 1 ล้านไมล์ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการวิเคราะห์ข้อมูลบนสภาพแวดล้อมที่มีความซับซ้อนอย่างบนท้องถนนได้เป็นอย่างดี

และเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ได้มีการเปิดตัว Google Cloud Vision API ทำให้นักพัฒนาสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี learning machine ที่สามารถระบุวัตถุ รวมไปถึงหน้าตา และอารมณ์ของบุคคลที่มันกำลังมองอยู่ได้อีกด้วย โดยเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้ใน Google Photos ที่สามารถค้นหาภาพบุคคลหรือสถานที่ที่ต้องการด้วยการวิเคราะห์จาก “ตัวภาพ” ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการค้นหาภาพหอไอเฟลในคลังภาพบนมือถือ ระบบก็จะแสดงภาพหอไอเฟลทั้งหมดที่อยู่เครื่อง แม้ว่าเรายังไม่ได้แท็กภาพหรือใส่ข้อความเข้าไปก็ตาม

I experience, therefore I am : ประสบการณ์ที่สอดรับแต่ละบุคคล
แม้ว่าจะมีข้อวิตกเกี่ยวกับการรักษาความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ยอมถูกติดตามพฤติกรรมบนโลกออนไลน์โดยบริการที่ใช้อยู่ แต่มีข้อแม้ว่าต้องแลกมากับประสบการณ์ใช้งานที่สอดรับกับรสนิยมและความต้องการมากขึ้น หากไม่เป็นไปตามที่ต้องการก็มีแนวโน้มว่าจะเลิกใช้บริการนั้นไปเลยก็มี

Boxever ผู้ให้บริการวิเคราะห์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยว ได้สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยว 500 คน พบว่าร้อยละ 55 ของนักท่องเที่ยวทั่วไป และร้อยละ 58 ของนักเดินทางเพื่อธุรกิจกล่าวว่า 3 ใน 4 ของข้อเสนอที่ได้ไม่สอดคล้องกับความชอบ ส่วนกลุ่มตัวอย่าง 6 ใน 10 กล่าวว่า จะเลิกบอกรับเนื้อหาจากบริษัทที่ไม่ได้ยื่นข้อเสนอที่ตรงตามต้องการ ร้อยละ 50 มีแนวโน้มที่จะไม่เปิดอ่านข้อเสนอถัดไปที่ส่งให้ และร้อยละ 40 มีแนวโน้มที่จะไม่ใช้บริการหรือซื้อสิ่งของใดๆ จากบริษัทนั้นเลยทีเดียว

แน่นอนว่า ความคาดหวังที่มาจากผู้บริโภคกลุ่ม Gen Y นั้นสูงกว่ามาก ผลการสำรวจเดียวกันพบว่า ร้อยละ 13 ของผู้บริโภคกลุ่มนี้มีแนวโน้มยกเลิกการรับเนื้อหาของบริษัทหากไม่ตรงตามความชอบ และมีถึงร้อยละ 10 ที่กล่าวว่าจะลบแอพพลิเคชั่นของบริษัทนั้นจากมือถือ หากไม่ได้รับลักษณะการมีปฏิสัมพันธ์ที่ตรงตามต้องการ

ประเด็นที่ได้รับการพูดถึงในปีที่ผ่านมาก็คือ การได้รับความนิยมมากขึ้นของแอพพลิเคชั่นประเภท Ad-blocker สำหรับโทรศัพท์มือถือ เพราะสามารถบล็อกโฆษณาที่รกหูรกตาบนหน้าเว็บฯ รวมทั้งประหยัดเวลาโหลดได้ แต่ฝ่ายที่น้ำตาตกคือ ผู้ผลิตเนื้อหาที่ต้องอาศัยรายได้จากโฆษณาเหล่านั้น โดยแลกมากับการเปิดให้บริโภคเนื้อหาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แน่นอนว่า มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวแตกต่างกันไป

แต่ผลวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ของ Intent HQ ที่ได้สำรวจผู้ใช้งานกว่า 2,000 คนทั่วสหราชอาณาจักร ได้เผยให้เห็นทางออกที่น่าสนใจ เพราะร้อยละ 59 ของกลุ่มตัวอย่างยอมให้เว็บไซต์มีโฆษณาที่สอดรับความต้องการของตัวเอง แต่มีเงื่อนไขว่าต้องให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายเลือกว่าจะยอมให้เปิดเผยข้อมูลหรือไม่

สรุป
แนวโน้มเทคโนโลยีที่น่าสนใจของปีนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารอัจฉริยะที่ทวีปริมาณมากขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายนำเสนอเนื้อหาได้ทันทีและทุกที่ทุกเวลา ขณะที่สมาร์ทโฟนก็จะมีแอพพลิเคชั่นและเครื่องมือต่างๆ ช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้นในโลกที่ทุกอย่างอยู่ในแอพฯ

ส่วนจักรกลที่ทำงานอยู่เบื้องหลังบริการทั้งหลายก็ได้รับการพัฒนาให้มีความฉลาดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งกว่า รวมทั้งสามารถตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้อย่างเป็นธรรมชาติ ส่วนผู้บริโภคในยุคที่ข้อมูลที่ความหลากหลายสูงนั้นก็ต้องการประสบการณ์ใช้งานที่สอดรับกับความต้องการของตัวเองมากขึ้น แม้จะต้องแลกมาด้วยการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวก็ตามครับ

[efspanel style=”” type=””]
[efspanel-header]
Contributor
[/efspanel-header]
[efspanel-content]
falcon

falcon_mach_v

สรนาถ รัตนโรจน์มงคล

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 48 และปริญญาโทจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รหัส 55 ปัจจุบันประกอบอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับด้านไอที แต่ด้วยความชอบจึงได้มีงานเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เสมอ สามารถติดตามอ่านได้ที่ www.bitwiredblog.com และชมเว็บไซต์ผลงานภาพถ่ายได้ที่ http://iviewphoto.me

Facebook: sorranart

Website: ontechz.blogspot.com

[/efspanel-content]
[/efspanel]