FoxBox เสิร์ฟอาหารเพื่อสุขภาพแบบเดลิเวอรี่

ซูม - กฤติน ปูชนียางกูร

ซูม – กฤติน ปูชนียางกูร

เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เกิดขึ้นโดยคนรุ่นใหม่ “ซูม – กฤติน ปูชนียางกูร และไบร์ท – ณทัย ศิริกันตราภรณ์” คู่รักที่คบหากันตั้งแต่วัยเรียน จนต้องการมีธุรกิจร่วมกันหลังจากเรียนจบ โดยเลือกจับธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพบนออนไลน์ “FoxBox” ที่นำเสนอเมนูอาหารที่หลากหลายกว่า 30-40 เมนู ผ่านการคัดสรรด้วยวัตถุดิบคุณภาพ และรสชาติที่อร่อยถูกปากคนไทย

FBFoxboxdiet IGfoxboxdiet

FoxBox สุนัขจิ้งจอกที่ฉลาดกิน
จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพบนออนไลน์นั้น เกิดจากที่กฤติน รู้สึกว่าการใช้ชีวิตหลังจากเรียนจบเปลี่ยนไปจากเดิม จนส่งผลให้สุขภาพเริ่มไม่ดี น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้เขาลองสั่งอาหารเพื่อสุขภาพมาทานดู จนจุดประกายความสนใจในตัวธุรกิจ และอยากลองทำเป็นของตนเองขึ้น

“ตอนที่เราลองสั่งอาหารของที่อื่นมาทาน เรารู้สึกว่าหน้าตาและรสชาติของอาหารไม่ดีอย่างที่เราคิด ซึ่งร้านขายอาหารเพื่อสุขภาพส่วนใหญ่จะทำอาหารออกมาในหน้าตาที่คล้ายกัน คือมีข้าว ผัก และเป็นเมนูซ้ำๆ ซึ่งเรารู้สึกว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่าที่ตลาดมีอยู่ จึงลองคิดค้นสูตรขึ้น โดยดัดแปลงจากเมนูอาหารต่างๆ ที่เราทานในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นเมนูเพื่อสุขภาพ ผ่านการเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งชื่อ FoxBox เปรียบได้กับสุนัขจิ้งจอกที่มีรูปร่างดี ฉลาดในการเลือกกิน และมีความคล่องแคล่ว ว่องไว ด้วยการบริการส่งแบบเดลิเวอรี่” กฤติน กล่าว

e210-small

ฉบับที่ 210 เดือนมิถุนายน

FinTech 2.0 การเงินคลื่นลูกใหม่

สร้างเมนูหลากหลาย ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่เบื่อง่าย
กฤติน เล่าต่อว่า เมนูอาหารของที่ร้านจะเป็นเมนูเพื่อสุขภาพที่ไม่ได้เน้นว่าเป็นคลีน 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเขามองว่า คำว่า “คลีน” ยังเป็นคำที่ค่อนข้างคลุมเครือ และหากคนที่เข้ามาทานไม่ได้รักการทานอาหารคลีน หรืออาหารออแกนิกอย่างแท้จริง สุดท้ายจะต้องหันกลับไปทานอาหารปกติอยู่ดี นอกจากนี้ยังพบว่า หลังจากที่ลูกค้าสั่งอาหารติดต่อกันเกิน 2 เดือน จะเริ่มมีพฤติกรรมเบื่ออาหาร ทำให้ยอดสั่งซื้อเข้ามาน้อยลง

“เราสังเกตได้ว่า ลูกค้าที่สั่งอาหารจากเราเป็นประจำหลัง 2 เดือน จะเริ่มสั่งซื้อน้อยลง หรือหยุดสั่งเพื่อไปลองของเจ้าอื่นๆ แต่พอเราเปลี่ยนเมนูใหม่ ลูกค้าจะกลับมา ทำให้เราต้องเปลี่ยนเมนูอาหารทุกๆ 2 เดือน เพื่อเพิ่มทางเลือก และลดอาการเบื่ออาหารให้กับลูกค้า ปัจจุบันเรามีเมนูอาหารเช้า กลางวัน และเย็น ให้เลือกกว่า 30-40 เมนูในแต่ละรอบ โดยเมนูที่ได้รับความนิยม อาทิ ข้าวมันไก่คลีน กุ้งอบบุกเส้น เป็นต้น ซึ่งลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้ทั้งแบบ A La Carte และแบบ Course ในราคาเริ่มต้นที่ 80-140 บาทต่อกล่อง นอกจากนี้ยังมีเมนูขนมหวานสำหรับผู้ควบคุมน้ำหนักอีกด้วย” กฤติน กล่าว

shop3

เราต้องเปลี่ยนเมนูอาหารทุกๆ 2 เดือน เพื่อเพิ่มทางเลือก และลดอาการเบื่ออาหารให้กับลูกค้า ปัจจุบันเรามีเมนูอาหารเช้า กลางวัน และเย็น ให้เลือกกว่า 30-40 เมนูในแต่ละรอบ

กระแส “กินคลีน” ยังมาแรง พนักงานออฟฟิศ-ผู้หญิงนิยมสั่ง
ส่วนการทำการตลาดออนไลน์ จะเน้นที่การสร้างคอนเทนต์ที่ดึงดูดผู้บริโภคบนเฟซบุ๊ก ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ภาพอาหารแบบหลายๆ ภาพ หรือการให้รายละเอียดข้อมูลบนโพสต์ เช่น ปริมาณแคลอรี่ที่จะได้รับ หรือข้อมูลทางด้านโภชนาการ เป็นต้น รวมไปถึงการใช้โฆษณาบนเฟซบุ๊ก เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นยอดขาย นอกจากนี้ยังใช้ LINE@ ในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร เช่น  เมนูใหม่ หรือโปรโมชั่น ไปยังผู้ติดตามโดยตรง ประกอบกับจัดโปรโมชั่นลดค่าจัดส่ง หรือค่าอาหารบ้างเป็นครั้งคราว ทำให้ธุรกิจได้รับผลตอบรับจากลูกค้าค่อนข้างดี โดยปัจจุบันมีผู้ติดตามบนเฟซบุ๊กจำนวนกว่า 2.6 หมื่นราย ขณะที่อินสตาแกรมมีผู้ติดตามที่ 1.6 พันราย

“ลูกค้าส่วนใหญ่ของ FoxBox จะเป็นกลุ่มพนักงานประจำ ที่อยู่ในย่านสุขุมวิท โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าเป็นเพศหญิง โดยเราคิดค่าจัดส่งตามระยะทาง เช่น ย่านสาทร สุขุมวิท จะคิดค่าจัดส่งที่ 60 บาท อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีร้านอาหารเพื่อสุขภาพเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากบนตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แต่เชื่อว่าธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยที่เราเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าถูกแย่งลูกค้า เนื่องจากเรามีฐานลูกค้าประจำ ประกอบกับยอดการสั่งซื้อยังเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นกว่า 2-3 เท่าหลังจากเปิดร้าน” กฤติน กล่าว

13147771_535008336624401_5053106523673235047_o

วางแผนเพิ่มเมนูของหวาน ต่อยอดคาเฟ่อาหารเพื่อสุขภาพ
กฤติน เล่าต่อว่า ในช่วงแรกของการทำธุรกิจ เขาพบปัญหาในเรื่องของการจัดส่งสินค้าค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น อาหารเสีย อาหารหกเลอะก่อนถึงมือลูกค้า ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแพ็กเกจใหม่ รวมถึงเลือกใช้บริการโลจิสติกส์อย่าง Lalamove เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดส่งสินค้า โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนอย่างช่วงเช้า ที่มีออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม กฤติน มองว่า ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพออนไลน์ สามารถตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ตรงที่ช่วยอำนวยความสะดวก ทั้งประหยัดเวลาในวางแผนเรื่องอาหาร และเวลาในการเดินทาง เนื่องจากจัดส่งให้ถึงที่ ส่วนแผนการขยายธุรกิจในอนาคตอันใกล้ จะเพิ่มเมนูขนมหวานเพื่อสุขภาพจากที่มีอยู่เดิม เพื่อให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมองไปถึงการเปิดคาเฟ่ ที่จัดเสิร์ฟอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้ามานั่งทานที่ร้านได้อีกด้วย