เป็นเวลากว่า 20 แล้ว ที่แพทย์หญิงบุษยา เตชะเสน ได้ตัดสินใจละทิ้งอาชีพจักษุแพทย์ เพื่อเข้ามาบริหารงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ตแอนด์เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์งานฝีมือ ภายใต้ชื่อ “ภิญญ์ ช้อป” ตามคำชักชวนของสามี (นายแพทย์ ภานุทัต เตชะเสน) ผู้ซึ่งมีความถนัดด้านซอฟต์แวร์และการเขียนโปรแกรมเป็นอย่างดี วันนี้ภิญญ์ ช้อป ที่หลายคนรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี ได้ดำเนินธุรกิจมาจนถึงอีกก้าวสำคัญ ซึ่งก็คือ การแบ่งปันประสบการณ์การทำธุรกิจให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดีย บนพื้นที่เสมือนโรงงานตัดเย็บขนาดย่อม โดยใช้ชื่อว่า “ภิญญ์ ครีเอทีฟ สเปซ”
เมื่อจักษุแพทย์หันมาทำธุรกิจ
พญ.บุษยา เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจนั้นมาจากสามีของเธอ ที่สนใจเรื่องของคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์และการเขียนโปรแกรม จึงได้เบนเข็มชีวิตมาประกอบอาชีพโปรแกรมเมอร์อย่างเต็มตัว ภายหลังเรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นเธอได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์ด้านจักษุแพทย์หลังจากที่ศึกษาต่อจนจบปริญญาโท แต่ทำได้เพียง 1 ปี สามีได้ชวนให้เข้ามาช่วยงานซอฟต์แวร์ เธอตอบตกลงลาออกอย่างไม่ยากนัก เพราะเห็นว่างานของสามีกำลังไปได้ดี
“คุณแม่สามี เป็นคนชอบปักครอสติส วันหนึ่งท่านเห็นรูปถ่ายขาว-ดำที่ถ่ายไว้ตอนรับปริญญาเริ่มเหลืองและลอก ก็คิดอยากปักครอสติสเป็นภาพนี้ขึ้น จึงได้ขอให้ลูกชายช่วยเขียนซอฟต์แวร์ลายปักครอสติสจากภาพถ่าย ซึ่งปรากฏว่าเมื่อปักโดยใช้เส้นไหมสีสันต่างๆ จนสำเร็จแล้ว ภาพที่ออกมานั้นสวยงามไม่แพ้ภาพถ่าย ประกอบกับในช่วงนั้นกำลังจะมีการเปิดศูนย์การค้าแห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ เรามองว่า ธุรกิจค้าปลีกกำลังจะเปลี่ยนไป ในอนาคตร้านค้าในตลาดจะต้องทยอยมาอยู่ที่ศูนย์การค้าสมัยใหม่นี้ อีกทั้งเราเองก็อยากมีประสบการณ์ด้านการขาย จึงตัดสินใจเช่าพื้นที่ร้าน โดยนำไอเดียของคุณแม่สามีมารวมกับไอเดียของหุ้นส่วนที่ทำซอฟต์แวร์ด้วยกัน ซึ่งเขาเสนอให้เปิดร้านขายของแฮนด์เมด จึงเกิดเป็นร้านจำหน่ายอุปกรณ์ปักครอสติส ภิญญ์ ช้อปในที่สุด”
ทั้งนี้ หลังจากเปิดสาขาที่เชียงใหม่ได้เพียง 3 เดือน ภิญญ์ได้ขยายสาขาเข้าสู่กรุงเทพฯ จนปัจจุบันมีสาขาและตัวแทนจำหน่ายแล้วกว่า 37 แห่งทั่วประเทศ
![]() |
ฉบับที่ 201 เดือนกันยายนเป้าหมายของ StartUp และการเลือก Exit |
พนักงานและลูกค้าช่วยผ่านอุปสรรค
ทุกเส้นทางชีวิตย่อมไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ครั้งหนึ่งภิญญ์ ช้อป สาขาเซ็นทรัลเวิร์ลได้รับความเสียหายหนัก ซึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง จึงไม่สามารถเรียกเงินชดเชยจากผู้ที่เกี่ยวข้องได้ แต่ก็ได้พนักงานและทีมงานร่วมกันต่อสู้โดยใช้เฟซบุ๊กชื่อ ภิญญ์สต๊าฟ เป็นสื่อกลางกระจายข้อมูล และรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้ที่ทำงานอยู่ในสำนักงานใหญ่ที่เชียงใหม่ รวมถึงสำนักงานขายที่กรุงเทพฯ ได้รับทราบข้อมูลในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงกัน อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่ลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติส่งกำลังใจเข้ามา ทำให้สามารถผ่านวิกฤตินั้นมาได้ และได้ทำการเปิดสาขาใหม่ บนถนนรัชดาฯ ในเวลาต่อมา
เฟซบุ๊ก เป็นช่องทางออนไลน์ที่ได้รับผลตอบรับมากที่สุด ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างคอนเทนต์ที่จุดประกายไอเดีย
หันทำออนไลน์ดึงลูกค้ากลับหน้าร้าน
พญ.บุษยา เล่าต่อว่า ปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิม คนเดินห้างฯ น้อยลง มีพฤติกรรมจดจ่ออยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมากขึ้น ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักการทำงานฝีมือ ส่วนผู้ใหญ่เองไม่นิยมทำงานฝีมือเป็นงานอดิเรกเช่นเดิม เราจึงเริ่มเปิดคอร์สอบรมให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การทำงานฝีมือ นอกจากนี้ยังได้เปิดแฟนเพจเฟซบุ๊กขึ้น เพื่อเป็นช่องทางกระจายข่าวสารให้กับลูกค้า พร้อมทั้งแชร์ข้อมูลต่างๆ เพื่อสร้างเแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานอีกด้วย
“ภิญญ์ ช้อป เรามีสินค้าหลากหลายชนิด เพื่อให้เกิดเป็นชุมชนของคนที่รักงานฝีมือขึ้น ในการเปิดเพจเฟซบุ๊กจึงจะแยกออกเป็นกลุ่มสินค้า เช่น ครอสติส นิตติ้ง เย็บผ้า รวมทั้งสิ้นแล้ว 7 เพจ โดยแต่ละเพจมีผู้ติดตามถึงหลักหมื่นคน นอกจากนี้ยังได้ขยายช่องทางการสอนผ่านวิดีโอบนยูทูป อีกทั้งยังมีช่องทางอินสตาแกรมที่ช่วยกระจายข่าวสารกิจกรรมอีกทางด้วย แต่ทั้งนี้เรามองว่า เฟซบุ๊ก เป็นช่องทางออนไลน์ที่ได้รับผลตอบรับมากที่สุด ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างคอนเทนต์ที่จุดประกายไอเดีย ทำให้ลูกค้าหันกลับมาซื้อสินค้าที่หน้าร้านหรือสั่งจากเว็บไซต์ในที่สุด”
เปิดพื้นที่แชร์ไอเดียสร้างสรรค์
ภิญญ์ ครีเอทีฟ สเปซ ต้องการให้เป็นพื้นที่ให้ความรู้และบริการกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างธุรกิจของตนเอง ในแบบครบวงจรบนพื้นที่เดอะ ช็อปปส์ พระราม 9 โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ในการให้คำแนะนำเรื่องสินค้าที่ตลาดกำลังมีความต้องการแก่ผู้สนใจ
“ปัญหาที่ผู้ประกอบการมือใหม่พบเมื่อนำสินค้าไปวางขายบนช่องทางออนไลน์ต่างๆ คือ สินค้าไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายเพียงพอ ซึ่งเมื่อสำรวจเทรนด์ปัจจุบันพบว่า คนไม่นิยมซื้อของที่ซ้ำแบบ ต้องการสินค้าที่เป็น Customize หรือมีคอลเล็กชั่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นสำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์ มีเงินทุนน้อย การจะลงทุนทำสินค้าออกมาในหลักพันชิ้น จึงเสี่ยงต่อการล้มเหลว”
“ทั้งนี้ ภิญญ์ ครีเอทีฟ สเปซ จะเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องดีไซน์ ศึกษาความต้องการของตลาด เทรนนิ่งการใช้เครื่องมือ Digital Fabrication ด้วยคอร์สเรียนที่หลากหลาย จากนั้นผู้สนใจสามารถลงมือสร้างสรรค์งานได้ทันที และเพื่อรองรับปัญหาการไม่มีช่องทางขายสินค้าที่อาจตามมาในอนาคต จึงได้เตรียมเปิดระบบคลาวด์ฟันดิ้งขึ้น ในการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้สร้างสรรค์ที่ชื่นชอบการออกแบบแต่ไม่มีเงินทุน นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะเปิด Marketplace ขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เพื่อเป็นตลาดรองรับกลุ่มผู้ซื้อที่มีจำนวนกว่า 600 ล้านคน ภายหลังการเปิดประชาคมอาเซียน 11 ประเทศอีกด้วย”